ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สถาปัตยกรรมอีสาน

สถาปัตยกรรมอีสานมีรูปแบบที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค ทั้งที่เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเรือน สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเช่น สิม หอแจก และธาตุเป็นต้น

ที่พักอาศัย
รูปแบบที่พักอาศัยของชาวอีสานเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เกิดจากการสั่งสมและถ่ายทอดรูปแบบการก่อสร้างที่พักอาศัยให้เหมาะกับสภาพทางภูมิศาสตร์และการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน จนเกิดเป็นแบบแผนและมีคติยึดถือจนกลายเป็นความเชื่อ จารีตประเพณี ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในชีวิต หากจะจำแนกประเภทของที่พักอาศัยของชาวอีสาน โดยใช้เกณฑ์อายุการใช้งาน (ชั่วคราวกึ่งถาวรและถาวร) ซึ่งแต่ละประเภทจะมีลักษณะและการใช้วัสดุที่แตกต่างกันเป็นเครื่องบ่งชี้อายุการใช้งาน อาจจำแนกได้ 3 ประเภทคือ

1. ที่พักอาศัยประเภทชั่วคราว ที่พักอาศัยประเภทนี้จะใช้เฉพาะบางฤดูกาลเช่น เถียงนาหรือเถียงไร่ ที่พักอาศัยประเภทนี้จะยกพื้นสูง เสาทำจากไม้จริงหรือไม้ไผ่ โครงไม้ไผ่หลังคามุงหญ้า พื้นไม้ไผ่สับฟากฝาเปิดโล่ง

2. ที่พักอาศัยประเภทกึ่งถาวร ที่พักอาศัยประเภทกึ่งถาวรอาจจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
2.1 เรือนเหย้า (เรือน ภาษาอีสานหมายถึงบ้าน) หรือ เหย้า เป็นเรือนขนาด 2 ห้องเสา สำหรับคู่สามี-ภรรยาที่แยกเรือนออกจากครอบครัวพ่อแม่เนื่องจากธรรมเนียมไม่นิยมอยู่ร่วมกัน หลายครอบครัวในเรือนหลังเดียวกัน เรือนเหย้ามักสร้างอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเรือนพ่อแม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่ระหว่างที่กำลังสร้างฐานะ ส่วนประกอบของเรือนมีเพียง 2 ห้อง คือ ห้องนอนและห้องเอนกประสงค์
2.2 ตูบต่อเล้า เป็นการสร้างเกยหรือเทิน (เพิง) ต่อมาจากเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) มีขนาดตามความยาวของเล้าข้าวประมาณ 2-3 ช่วงเสา วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุประเภทเดียวกับใช้สร้างเรือนแห ย้าตูบต่อเล้าเป็นที่อยู่อาศัยชั่วระยะเวลาหนึ่งของสามีภรรยาเพิ่งออกเรือน แต่ยังไม่พร้อมที่จะสร้างเรือนเหย้าหรือเรือนใหญ่ได้ เมื่อสามารถสร้างเรือนเหย้าหรือเรือนใหญ่ได้ ตูบต่อเล้าก็จะกลายเป็นสถานที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร หรือเป็นที่นั่งเล่นพักผ่อนต่อไป

3. ที่พักอาศัยประเภทถาวร ที่พักอาศัยประเภทถาวรจะมีโครงสร้างเป็นไม้จริง (เรือนเครื่องสับ) รูปทรงสี่เหลี่ยม ใต้ถุนสูงหลังคาทรงจั่ว เสาเป็นเสา กลม หรือเสาเหลี่ยม ฝาเป็นฝาไม้ไผ่สานลายคุปหรือฝาไม้กระดาน (ฝาแอ้มแป้น) ที่พักอาศัยประเภทถาวรนี้อาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภทคือ

3.1 เรือนใหญ่ เป็นเรือนขนาด 3 ช่วงเสา หันด้านข้างไปทางทิศตะวันออก-ตะวันตก (ปลูกเรือนล่องตะวัน) ตีฝากั้นปิดทึบทั้ง 4 ด้าน ฝาเรือนทางด้านหลังเจาะช่องขนาดกว้าง 1 ศอก ยาว 1 ศอก เพื่อให้ลมและแสงสว่างเข้าสู่เรือน เรียกว่า “ป่องเอี้ยม” เจาะประตู 2 หรือ 3 ประตู ตามช่วงเสาด้านตรงข้ามแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ในตัวเรือนออกเป็น 3 ส่วน คือ
– ห้องเปิง ตั้งอยู่ริมด้านหัวเรือนของเรือนใหญ่เป็นส่วนที่วางหิ้งสักการะบูชาผีบรรพบุรุษ ผีเรือนและหิ้งพระ หรือบางครั้งอาจใช้เป็นห้องนอนของลูกชาย ห้องเปิงอาจเรียกชื่อว่าห้องผีหรือห้องพระก็ได้
– ห้องกลาง เป็นห้องที่อยู่ในช่วงเสาส่วนกลางเรือน ใช้เป็นห้องนอนของพ่อแม่ และเก็บสิ่งของที่มีค่า
– ห้องส่วม ตั้งอยู่ริมด้าน ท้ายเรือของเรือนใหญ่ตรงข้ามกับห้องเปิง ใช้เป็นห้องนอนของลูกสาวหรือห้องนอนของลูกสาวกับลูกเขยหลังแต่งงาน
3.1.2 เกย หรือบ้านโล่งเป็นชานที่มีหลังคาคลุม มีลักษณะเป็นการต่อชานออกมาทางด้านหน้าของเรือน มีหลังคาคลุม พื้นเป็นไม้กระดาน ด้านข้างเปิดโล่งหรือกั้นฝา และพื้นเกยจะมีระดับต่ำกว่าพื้นเรือนใหญ่ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในครอบครัว เช่น รับประทานอาหาร รับรองแขก พักผ่อนอิริยาบททำบุญเลี้ยงพระ ทำพิธีสู่ขวัญ ฯลฯ
3.1.3 ชานแดด เป็นการต่อชานออกมาจากเกยทางด้านหน้าเปิดโล่งทั้งด้านบน และด้านข้างพื้นชานแดดจะลดระดับลงมาจากเกย ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนยามเย็น ใช้เป็นที่รับประทานอาหารหรือวางผลิตผลทางการเกษตร พื้นที่ส่วนหนึ่งมักสร้างเป็นร้านเพื่อตั้งโอ่งน้ำสำหรับดื่ม เรียกว่า “ร้านแอ่งน้ำ”
3.1.4 เรือนไฟ หรือเรือนครัวเป็นส่วนที่ประกอบอาหาร เป็นตัวเรือนขนาด 2 ช่วงเสาต่อออกมาจากชานแดดด้านข้างทิศท้ายเรือน ฝาเรือนไฟนิยมทำเป็นฝาโปร่งเพื่อระบายอากาศ เรือนไฟอาจมีชานมนเป็นที่ตั้งโอ่งน้ำสำหรับประกอบอาหารและล้างภาชนะ

3.2 เรือนโข่ง ลักษณะของเรือนประเภทนี้ประกอบด้วยเรือนใหญ่และเรือนโข่ง (เรือนน้อย) ตั้งอยู่ข้าม อาจตั้งชิดติดกันเป็นเรือน จั่วแฝดเชื่อมติดกันด้วยฮางริน (รางน้ำ) ระหว่างหลังคาเรือนทั้งสองหลัง หรือตั้งอยู่ห่างกันแต่เชื่อมด้วยชานก็ได้ เรือนโข่งมีขนาดเล็กและหลังคาต่ำกว่าเรือนใหญ่เล็กน้อยมีห้อง 2-3 ห้อง มักกั้นฝาเพียง 3 ด้านเปิดโล่งด้านที่หันเข้าหาเรือนใหญ่ เรือนโข่งจะมีโครงสร้างเป็นเอกเทศจากเรือนใหญ่ สามารถรื้อไปปลูกใหม่ได้ทันที ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับเกย อาจมีชานแดดหรือเรือนไฟต่ออกทางด้านข้างของเรือน

3.3 เรือนแฝด เรือนแฝดจะประกอบด้วยเรือนใหญ่และเรือนอีกหลังหนึ่งที่เรียกว่าเรือนแฝด มีรูปร่างและประโยชน์ใช้สอยเหมือนกับเรือนโข่ง ต่างกันตรงที่ลักษณะโครงสร้างของเรือนแฝดคือทั้งขื่นและคานจะฝากไว้กับเรือนใหญ่ พื้นเรือนอาจเสมอกันหรือลดระดับลงจากเรือนใหญ่ก็ได้ ฝาของเรือนแฝดจะทำให้มีขนาดใหญ่หรือลำลองกว่าฝาเรือนใหญ่ ฝาด้านที่หันเข้าหาเรือนใหญ่จะเปิดโล่งเชื่อมติดกับชานแดดออกสู่เรือนไฟ เรือนชนิดนี้มักจะเป็นเรือนของผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี

สิมอีสาน Sim I-san (Northeast Buddhist Holy Temple)

“สิม” มีความหมาย เช่นเดียวกับ “โบสถ์” หรือ “อุโบสถ” กร่อนเสียงมาจากคำว่า “สีมา” ซึ่งหมายถึงขอบเขตหรืออาณาเขตที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมของสงฆ์ ซึ่งต้องทำในสิมทำนอกสิมไม่ได้
สิมมี 3 ชนิด สิมที่ทำในบ้านเรียก “คามสีมา” สิมที่ทำในป่าเรียก “อัพภันตรสีมา” สิมที่ทำในน้ำเรียก “อุทกกเขปสีมา” สิมทั้ง 3 ประเภทนี้ ถ้าสงฆ์ยังไม่ได้ผูกเรียก “อพัทธสีมา” ถ้าผูกแล้วเรียก “พัทธสีมา” ส่วน “วิสุงคามสีมา” นั้นก็คือ “คามสีมา” ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกที่ดินที่จะสร้างสิมให้ แต่สีมาจะเป็นชนิดใดก็ตามหากยังไม่ได้ผูกก็ยังไม่มั่นคงถาวรเพราะผู้ให้อาจจะเพิกถอนเมื่อใดก็ได้ท่านว่าถ้าได้ผูกแล้วรากสิมจะหยั่งลงไปถึงน้ำหนุนแผ่นดิน ดังนั้นเมื่อมีการสร้างสิมแล้วจึงนิยมผูกสีมาทุกคราไป
รูปแบบของสิมในภาคอีสานนั้นปรากฎส่วนใหญ่ให้เห็นอยู่ 2 ชนิดคือ “คามสีมา” หรือที่ชาวอีสานมักเรียกว่า “สิมบก” และ “อุทกกเขปสีมา” ที่เรียกว่า “สิมน้ำ”
1. สิมน้ำหรืออุกทกกเขปสีมา ในอีสานมีน้อยมากสร้างขึ้นเพราะความจำเป็นเร่งด่วนในการประกอบสังฆกรรมซึ่งไม่มีวัดหรือมีก็เพียงสำนักสงฆ์ที่ยังขาด “สิม” อันได้ผูกพัทธสีมาถูกต้องตามพระวินัย
รากฐานของสิมน้ำในระยะแรกมักใช้เรือ หรือแพผูกมัดเข้าหากัน แล้วปูพื้นกระดานทำเป็นโรงเรือนแบบง่าย ๆ มิได้คำนึงถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อความสวยงามแต่ประการใด สิมน้ำนิยมแพร่หลายในช่วงเผยแพร่พุทธศาสนาธรรมยุภติกในสมัยของท่านพระอาจารย์มั่นภูริทันโต ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
2. สิมบกหรือคามสีมา เป็นผลงานของสถาปนิกพื้นบ้านอีสานอย่างแท้จริง บ่งบอกถึงภูมิปัญญา ช่างพื้นบ้านตั้งแต่ดั้งเดิมที่สั่งสอน แก้ไข ดัดแปลง สืบต่อกันมาแม้ขนาดจะไม่ใหญ่โต อลังการเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น แต่ก็เป็นสัจธรรมที่สะท้อนถึงชีวิต ของผู้คนบนถิ่นที่ราบสูงได้เป็นอย่างดี
สิมบกหรือคามสีมาสามารถจำแนกรูปแบบออกได้หลากหลายกว่าสิมน้ำ สิมบก จนก่อให้เกิดรูปแบบของสิมบก เป็น 4 ลักษณะใหญ่ ๆ ดังนี้
– สิมอีสานพื้นบ้านบริสุทธิ์
– สิมอีสานพื้นบ้านประยุกต์โดยช่างพื้นบ้าน (รุ่นหลัง)
– สิมอีสานพื้นบ้านผสมเมืองหลวง
– สิมอีสานที่ลอกเลียนเมืองหลวง
หากจะแบ่งตามลักษณะในทางสถาปัตยกรมของสิมบกสามารถแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
1. ชนิดโปร่งหรือสิมโถง ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็นสิมโปร่งพื้นบ้านบริสุทธิ์มีทั้งแบบไม่มีเสารับปีกนก และแบบมีเสารับปีกนก
2. ชนิดสมทึบ ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น
– สิมทึบพื้นบ้านบริสุทธิ์สร้างด้วยไม้และอิฐถือปูน ซึ่งแบบอิฐถือปูนมีทั้งแบบมีและไม่มีเสาปีกนก
– สิมทึบพื้นบ้านประยุกต์โดยช่างพื้นบ้าน (รุ่นหลัง) มีทั้งแบบใช้ช่างพื้นบ้านไทย-อีสาน และช่างญวนหรือได้รับอิทธิพล โดยช่างญวนโดยจำแนกได้เป็นแบบไม่มีมุขหน้าแบบมีมุขหน้า แบบมีมุขหน้าและมุขหลังและแบบมีระเบียงรอบ
– สิมทึบพื้นบ้านผสมเมืองหลวง
– สิมทึบที่ลอกเลียนเมืองหลวง
ข้อบัญญัติตามพระวินัยปิฎกกล่าวไว้ว่า “น่านน้ำที่สงฆ์จะกำหนดเป็นอุทกกเขปได้มี 3 แบบ คือ
1. นที แม่น้ำ
2. สมุทร ทะเล
3. ชาตสระ ที่ขังน้ำอันเกิดเอง
การทำสังฆกรรมในน่าน้ำ 3 ชนิดนี้จะทำบนเรือหรือบนแพอันผูกกับหลักในน้ำหรือทอดสมอก็ได้ ให้ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ประมาณ 3 วา) ท่านห้ามไม่ให้ทำในเรือในแพอันกำลังลอยกำลังเดินจะทำบนร้านอันปลูกขึ้นในน้ำท่านว่าได้
ดังนั้น “ร้านอันปลูกขึ้นในน้ำ” จึงเป็นมูลเหตุมาเป็นสิมน้ำประเภทถาวรขึ้น สามารถใช้สอยได้ในระยะเวลายาวนานพอสมควร แม้จะไม่มีความคงทนนัก ปัจจุบันสิมน้ำในภาคอีสานได้สูญหายไปจนเกือบหาดูไม่ได้

สิมวัดศรีชัยราช บ.โนนผึ้ง อ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ
เป็นสิมโสร่งพื้นบ้านที่แสดงนัยทางคติธรรม หลังคาปีกนกยื่นลอยออกจากผนังโดยรอบอย่างได้ผลในทางทรวดทรง และสัดส่วนให้ความรู้สึกเบาและหลุดลอยเหนือโลกธรรมทั้งปวงในขณะเดียวกันยงคงความเรียบง่าย สมถะ ตามแบบสิมพื้นบ้านบริสุทธิ์ของชาวอีสาน

สิมวัดศรีฐาน บ.บ้านหนาด อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด
สิมวัดศรีฐาน เป็นสิมทึบพื้นบ้านบริสุทธิ์ สะท้อนรูปแบบและคติในการสร้าง แสดงถึงภูมิปัญญาผสานกับพุทธศิลปแบบพื้นบ้านเป็นความงามที่เรียบง่ายบริสุทธิ์และตรงตามคติธรรม

สิมวัดกุดชุมใน บ.กุดชุมใน อ.กุมชุมใน จ.ยโสธร
สิมวัดกุมชุมใน เป็นสิมทึบสร้างด้วยไม้ ฝีมือไทย-อีสาน พื้นบ้านแท้ ๆ มีความสมบูรณ์สวยงามแปลกตามีลวดลาย ตบแต่งตามสมควร สมกับวิถีชีวิตของผู้คนในภาคอีสาน

สิมวัดวุฒิวราราม บ.โพนสาวเอ้ อ.เรณูนคร จ.นครพนม
สิมวัดวุฒิวรารามสิมทึบพื้นบ้านผสมอิทธิพลช่างญวน ในการสร้างสิมในสมัยต่อมานิยมใช้ช่างญวนในการก่อสร้าง ด้วยช่างญวณมีความชำนาญในการก่ออิฐถือปูรูปลักษณะจึงมีลักษณะผสมศิลปญวนและมีการก่ออาร์คโค้งตามประตู หน้าต่างโดยได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศลอีกทอดหนึ่ง

สิมวัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
สิมวัดทุ่งศรีเมือง เป็นสิมทึบพื้นบ้านผสมเมืองหลวง โดยถูกดัดแปลงทรงหลังคา โหง่ นาคสะดุ้ง หางหงส์ คันทวย และเสาให้เป็นคติการสร้างแบบภาคกลาง คงเหลือแต่ฮังผึ้ง (รวมผึ้ง) และพระ ประธานที่เป็นของเดิมอีกทั้งมีภาพจิตกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) ศิลปะสมัยปลาย ร.3

ส่วนประกอบตกแต่งสิม

“สิมอีสาน” นอกจากจะมีรูปแบบที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน แล้วยังมีรายละเอียดของการตกแต่งอีกหลายประการที่ทำให้ตัวสิมมีความงามมากยิ่งขึ้นสามารถแยกสิมออกเป้น 3 ส่วนดังนี้
ส่วนบน คือ ส่วนของหลังคาทั้งหมดจะมีส่วนประดับตกแต่งเช่น ช่อฟ้า โหง่ ลำยอง หางหงส์ เชิงชายและสีหน้าเป็นต้น
ส่วนกลาง คือ สัวสิมหกเป็นสิมโปร่งจะไม่ใคร่มีการตบแต่งมากเท่าสิมทึบ ซึ่งในส่วนนี้จะก่ออิฐฉาบปูนเป็นส่วนใหญ่มีส่วนประกอบตกแต่ง เช่น ประตู หน้าต่าง คันทวย ฮังผึ้งและบางแห่งอาจมีฮูปแต้ม ทั้งภายนอกและภายในตลอดถึงฐานชุกชีพระประธานก็ถือว่าเป็นงานตกแต่งที่อยู่ในส่วนนี้
ส่วนฐาน คือ ส่วนที่เอวขันที่ก่ออิฐฉาบปูนทำเป็นโบกคว่ำ โบกหงาย และมีท้องกระดานกระดูกงูตามรสชาติ งานช่วงของภาคอีสานซึ่งมีการวางจังหวะและสัดส่วนแผกไปจากภาคอื่นนอกจานั้นก็มีปูนปั้นเป็นรูปสัตว์เฝ้าบันไดอาทิเช่น จระเข้เหรา สิงห์ และตัวมอม เป็นต้น

ธาตุและพระธาตุ

เป็นภาษาถิ่นของภาคอีสานใช้เรียกอนุสาวรีย์หรือสิ่งก่อสร้างใช้บรรจุอัฐิธาตุของผู้ตายมีความหมายเช่นเดียวกับสถูปหรือเจดีย์ในภาษาภาคกลางธาตุ หมายถึง ที่บรรจุกระดูกของบุคคลธรรมดาสามัญ นับแต่ชาวบ้านไปจนถึงเจ้าเมืองและพระสงฆ์องค์เจ้าโดยทั่วไป พระธาตุถูกสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานเฉพาะพระบรมสาริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์เจ้าเท่านั้น ความโดดเด่นของรูปแบบมักแสดงออกตรงส่วนกลางของ “ยอดธาตุ” มากกว่าส่วนอื่น
รูปแบบของพระธาตุสามารถจำแนกได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
– กลุ่มฐานต่ำ เช่น พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย สร้างเมื่อ พ.ศ.2103
– กลุ่มฐานสูง ตัวอย่างเช่น พระธาตุพนม (องค์ก่อนบูรณะต่อเติม พ.ศ.2483) อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
– กลุ่มเรือนธาตุทำซุ้มจรนำยอดธาตุมีปลี 4 ทิศ ตัวอย่างเช่น องค์พระธาตุวัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ยโสธร
– กลุ่มเรือนธาตุมีซุ้มจรนำยอดธาตุบัวเหลี่ยม ตัวอย่างเช่น พระธาตุบัวพวน อ.เมือง จ.หนองคาย
– กลุ่มยอดธาตุ 8 เหลี่ยม ตัวอย่างเช่น พระธาตุ 8 เหลี่ยมองค์หนึ่งในวัด พระธาตุ บังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ในวัดทุ่งสะเดา บ.สะเดา อ.เมือง จ.ยโสธร
– กลุ่มย่อมุม 12 บัลลังก์ เรือนธาตุ 8 เหลี่ยม ยอดธาตุทรงระฆังคว่ำ ตัวอย่างเช่น พระธาตุย่อเหลี่ยมองค์ใหญ่ (รัตนฆรเจดีย์) ในวัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย พระธาตุย่อเหลี่ยมองค์เล็กในวัดพระธาตุบังพวน อีก 1 องค์ พระธาตุวัดกลาง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งทางวัดได้ก่ออิฐปิดหมดแล้วทั้งองค์
“ธาตุ” ในครั้งแรกนิยมใช้จึงเรียกว่า “ธาตุไม้” โดยใช้ไม้ถากให้เป็นท่อน 4 เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวไม่เกินด้านละ 30 ซม. แล้วตกแต่งบัวหัวเสาให้วิจิตรพิศดาร ต่อมาได้พัฒนามาใช้การอิฐถือปูน ซึ่งสามารถทำได้ใหญ่โตและแข็งแรงยิ่งขึ้น เรียกว่า “ธาตุปูน” ช่างพื้นบ้าน อีสานใช้เทคนิคของการก่ออิฐที่ทำขึ้นใช้เองและใช้ปูนสอที่เรียกว่า “ชะทาย” ซึ่งทำขึ้นจากปูนขาวผสมทราย ยางบงและน้ำหนัง เป็นตัวประสาน
ธาตุปูนจำแนกออกได้ตามความสำคัญของผู้วายน์ชนม์ดังนี้
1. ธาตุปูนบุคคลสามัญ ได้แก่ ธาตุใส่กระดูกของชาวบ้านธรรมดาทั่ว ๆ ไปมักทำขนาดไม่สูงใหญ่มีทั้งแบบเรียบและปั้นปูน ประดับเป็นลวดลายบริเวณเรือนธาตุ
2. ธาตุปูนบุคคลสำคัญ ได้แก่ธาตุของนายบ้าน กำนัน ครูใหญ่ หรือบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้าน ตลอดจนธาตุของเจ้าเมือง หรือลูกหลานผู้สืบทอดในวงศ์ตระกูล การก่อสร้างธาตุให้บุคคลเหล่านี้จะปราณีตแตกต่างกว่าธาตุของบุคคลสามัญ
3. ธาตุปูนพระสงฆ์ ได้แก่ ธาตุของพระเถระผู้ใหญ่ เจ้าอาวาส ญาคูหรือญาท่าน เป็นต้น มักก่อสร้างสูงใหญ่มีความซับซ้อนมากขึ้น ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดูดเด่นเป็นสง่าในวัดรองลงมาจาก “พระธาตุ” แล้วยังมีรูปแบบของ “บือบ้าน” หรือ “หลักบ้าน” (ส่วนมากทำด้วยไม้) ของอีสานที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ “ธาตุไม้” ของสามัญชน ต่างกันแต่ว่าไม่มีช่องบรรจุอิฐเท่านั้น นับเป็นศิลปกรรมพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

พระธาตุพนม จ.นครพนม
พระธาตุพนมตามอุรังคนิทานเป็นพระธาตุที่บรรจุพระอุรังคธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นเมื่อถึงกาล บูรณะในสมัยพระราชครูโพนสะเม็ก ช่างที่บูรณะมาจากเวียงจันทน์และได้รูปแบบมาจากพระธาตุหลวงแต่ช่างได้ดัดแปลงเฉพาะส่วนยอดธาตุจึงก่อให้เกิดรูปลักษณ์ใหม่ของพระธาตุฝั่งขวาแม่น้ำโขง และส่งอิทธิพลไปตลอดภาคอีสานส่วนบนและส่วนกลาง

พระธาตุพนมองค์ปัจจุบัน
สร้างแทนองค์เก่าซึ่งล่มไปเมื่อ 11 สิงหาคม 2518 ยอดธาตุทรงคอขวดสูงเรียวเป็นของดัดแปลวใหม่สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ.2483)
พระธาตุเรณูนคร จ.นครพนม
พระธาตุเรณูนคร
เป็นพระธาตุในกลุ่มฐานสูงเช่นเดียวกับพระธาตุพนามเป็นพระธาตุที่แสดงให้เห็นถึงคติการสร้างและรูปลักษณ์ที่ได้รับอิทธิพลจากพระธาตุพนมองค์เดิม (ก่อนสมัย พ.ศ2483)
พระธาตุศรีสองรัก จ.เลย
พระธาตุศรีสองรักเป็นพระธาตุในกลุ่มฐานต่ำซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมล้านช้างที่ส่งอิทธิพลต่อรูปแบบของพระธาตุในภาคอีสานมาแต่อดีตกาลตามประวัติของพระธาตุในภาคอีสานมาแต่อดีตกาลตามประวัติของพระธาตุสร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการทำสัญญาทางพระราชไมตรี ระหว่างพระมหาจักร พรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยากับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์)

พระธาตุขามแก่น จ.ขอนแก่น
เป็นพระธาตุกลุ่มฐานต่ำแสดงศิลปกรรมล้านช้างเช่นเดียวกับพระธาตุศรีสองรักตามประวัติการสร้างพระธาตุ ในครั้งนั้นคณะอัญเชิญพระอุรังคธาตุเพื่อนำไปประดิษฐานที่พระธาตุพนมเดินทางผ่านกลับมาเนื่องจากไปร่วมบรรจุไม่ทันเพราะพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้วได้นำพระอุรังคธาตุประดิษฐานบนตอมะขามที่เหลือแต่แก่นข้างใน ตอไม้นั้นกลับมีชีวิตขึ้นจึงเกิดนิมิตรหมายในการสร้างพระธาตุ โดยนำพระอุรังคธาตุที่นำกลับมาบรรจุในพระธาตุขามแก่น

ธาตุไม้
ธาตุไม้ คือ การนำไม้แท่ง 4 เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 15-25 ซม. ความสูงไม่จำกัดมาประดิษฐ์เป็นที่บรรจุอัฐิของสามัญชน นับเป็นงานพื้นฐานในเชิงช่าง เป็นมูลเหตุแห่งการสร้างงาน สถาปัตยกรรมประเภทอนุสาวรีย์ในโอกาสต่อมา

ธาตุปูน
ธาตุปูน เป็นธาตุที่ทำด้วยปูนไม่ใช้โครงเหล็ก เป็นฝีมือช่างที่พัฒนารูปแบบมาจากธาตุไม้ โดยมีองค์ประกอบของฐานธาตุ เรือนธาตุและยอดธาตุ การบรรจุอัฐินั้นนิยมบรรจุในเรือนธาตุเป็นส่วนใหญ่ ธาตุปูนนิยมทำสำหรับบุคคลสามัญ บุคคลสำคัญตลอดจนเจ้านายและพระสงฆ์