ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

ศ.พิเศษ เฉลิม นาคีรักษ์ (สาขาทัศนศิลป์ – จิตรกรรมไทยประยุกต์)

ศ.พิเศษ เฉลิม นาคีรักษ์

ศาสตราจารย์พิเศษเฉลิม นาคีรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๐ ที่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว ศาสตราจารย์พิเศษเฉลิมนาคีรักษ์ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๑

ศาสตราจารย์พิเศษเฉลิม นาคีรักษ์ เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญด้านจิตรกรรมผู้บุกเบิกศิลปะไทยร่วมสมัย สมัยใหม่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการศิลปะและศิลปศึกษาโดยทั่วไป มีผลงานดีเด่นทั้งในแบบศิลปะสมัยใหม่และศิลปะแบบประเพณีประยุกต์ ผลงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับชีวิตและประเพณีไทยมีความยึดมั่นและศรัทธาในศิลปะ ได้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนานเกือบ ๕๐ ปี มีผลงานแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เคยได้รับรางวัลในการประกวดศิลปกรรมหลายครั้งและหลายแห่ง ในด้านการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางศิลปะนั้นศาสตราจารย์พิเศษเฉลิม นาคีรักษ์ ได้เป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่ วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นเวลา ๓๗ ปี มีศิษย์เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ได้รับราชการโดยตลอดมา จนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง และเป็นคณบดีคณะศิลปกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเพาะช่าง เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษในสถาบันดังกล่าว

งานศิลปะของ ศาสตราจารย์พิเศษเฉลิม นาคีรักษ์ โดยหลักนั้นคือ งานจิตรกรรม ซึ่งมีทั้งแนวสากลสมัยใหม่ และแนวประเพณีประยุกต์ ส่วนเทคนิคที่ใช้มีทั้งสีน้ำมัน สีน้ำ สีฝุ่น และสีพลาสติก ส่วนเนื้อหาและเรื่องราวที่เขียนนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ภาพหุ่นนิ่ง ภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล และภาพเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมไทย ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่ดีเด่นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ผลงานสำคัญที่ได้สร้างสรรค์ไว้ได้แก่พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระมหากษัตริย์และเจ้านายในราชวงศ์จักรีอีกหลายพระองค์ ซึ่งประดิษฐานไว้ในสถานที่สำคัญต่าง ๆ หลายแห่งด้านการเขียนภาพสีน้ำ ก็เป็นงานที่ท่านรักและทำได้ดีเป็นพิเศษ จนได้รับคำชมเชยจาก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี งานประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพทิวทัศน์ที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ท่านได้เดินทางไปพบเห็นและเกิดความประทับใจ

ส่วนผลงานแนวประเพณีประยุกต์นั้น นับเป็นผลงานดีเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลงานเหล่านี้นอกจากจะสามารถถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทแบบอีสานได้เป็นอย่างดีแล้วยังให้ความรู้สึกความสดใส สนุกสนาน มีรายละเอียดที่ซับซ้อนน่าสนใจไปทั่วทุกตารางนิ้วของผลงาน อันเกิดจากการรวมตัวกันของแนวความคิดสร้างสรรค์ องค์ประกอบทางศิลปะ และฝีมือชั้นครูด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษเฉลิม นาคีรักษ์ ได้นำเอาผลงานศิลปะและวิชาการบริการแก่สังคมตลอดเวลาอันยาวนาน เป็นผู้บุกเบิกศิลปะยุคปัจจุบันคนสำคัญคนหนึ่ง นับเป็นศิลปินที่ดำรงชีพและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นต้นแบบให้กับศิลปินรุ่นหลัง จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นอมรศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมไทยประยุกต์)ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป