วัดไชยศรี
ประวัติความเป็นมา
ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2408 พระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2460 เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 48 ตารางวา
ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตโบราณสถาน 20 ส.ค.2544
ที่ตั้ง
หมู่ 8 บ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
รูปแบบสิม วัสดุและโครงสร้าง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิมโบราณ เดิมเป็นหลังคาแบบอีสานคือมีปีกยื่น ต่อมาหลังคาชำรุด มีการบูรณะ ในปี พ.ศ.2525 ชาวบ้านและทางวัดซ่อมและเปลี่ยนทรงหลังคาใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ซึ่งไม่สามารถ กันแดดกันฝนได้ทั่วถึงจึงทำให้ภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอกเลือนไปบ้าง พ.ศ.2536 กรมศิลปากรก็ได้เข้ามาต่อเติม ปีกหลังคาด้านข้างของสิม เพื่อป้องกันแดดและฝน และยกพื้นขึ้นเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะฐานราก
รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้
องค์ประกอบบางส่วน ได้สร้างขึ้นใหม่ เช่น แขนนางหรือคันทวยเป็นแบบรัตนโกสินทร์ องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ฐาน เสา ซุ้มหน้าต่างยังคงเป็นของเดิม
ประตูไม้แกะสลักถูกขโมย แต่มีการแกะสลักใหม่โดยใช้รูปแบบเดิมมาแทน
ภายในสิม มีพระประธานปูนปั้น
ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน)
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือช่างพื้นบ้านชาวมหาสารคาม นาย ทอง ทิพย์ชา ฮูปแต้มนี้เขียนทั้งภายในและ ภายนอกสิม เขียนด้วยสีฝุ่นโทนสีคราม เหลือง ขาว ลักษณะการเขียนภาพเน้นสัดส่วนที่เกินจริง อารมณ์ของภาพดูสนุกสนาน ตัวละครจะออก ท่าทางโลดโผน เรื่องราวที่เขียนบนฝาผนังด้านนอกเป็นรูปนรกแปดขุม ภาพพระเวสสันดร นิทานพื้นบ้าน เรื่องสังข์สินไชย ภาพทวารบาล ส่วนด้านในจะเล่าเรื่องพุทธประวัติ มีภาพเทพ มนุษย์ และสัตว์ต่างๆ