ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วัดใต้ บ้านยางขี้นก

วัดใต้ บ้านยางขี้นก

ประวัติความเป็นมา

“ยางขี้นก” เดิมบริเวณด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านยางขี้นก มีหนองน้ำใหญ่ และมีต้นยางนาขึ้นมากมายและที่บริเวณต้นยางมีนกกระยางขาวจำนวนมาก เมื่อพลบค่ำนกกระยางขาวจะมานอนรวมกันบริเวณต้นยางนา ทำให้มีนกมากมายตอนเช้าจะมีขี้นกเต็มพื้นที่ขนาดกว้าง ชาวบ้านสามารถมาเก็บขี้นกใต้ต้นยางสำหรับนำไปเป็นปุ๋ยใช้ในการเกษตรได้ เมื่อชาวบ้านอพยพมาก่อตั้งบ้านเรือนใกล้บริเวณหนองน้ำเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านยางขี้นก” จนกระทั่งถูกตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบล จนถึงทุกวันนี้
วัดใต้บ้านยางขี้นกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2413 โดยชาวบ้านในหมู่บ้านยางขี้นก  เจ้าอาวาสคนปัจจุบันคือ หลวงปู่จำปี ติขิณพะโล อายุ 65 ปี บวชได้ 5 พรรษาภายในวัดแห่งนี้ พบสิมเก่าที่ปัจจุบันเลิกใช้งานแล้วอยู่ด้วย ภายในสิมเดิมนั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 1.30 เมตร ฐานชุกชีกว้าง 1.20 เมตร สูง 1.50 เมตร ด้านข้างลึก 0.60 เมตร

ที่ตั้ง

วัดใต้บ้านยางขี้นก ม.10 บ.ยางขี้นก ต.ยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

รูปแบบสิม วัสดุและโครงสร้าง

รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้

แขนนางไม้แกะสลักรูปเทพพนม

ซุ้มประตูทางเข้า เสาด้านหน้าด้านล่างของฮังผึ้งแกะสลักเป็นนาค ซุ้มหน้าต่างแกะสลักแบบลำยองลายนาค

ฮังผึ้ง มีการสร้างปีกนกใหม่ยื่นปิดหน้าบัน

ภาพภายในสิม พระประธานองค์ปัจจุบันที่อยู่ในโบสถ์ใหม่นั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นพระที่ญาติโยมจากกรุงเทพนำมาถวาย เป็นพระพุทธรูปโลหะทองเหลือง หน้าตักกว้าง 1.45 เมตร สูง 1.65 เมตร ฐานชุกชีกว้าง 2 เมตร สูง 1.80 เมตร ด้านข้างลึก 1.60 เมตร

ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน)

บริเวณด้านนอกทางทิศเหนือพบรูปฮูปแต้มที่เหลือร่องรอยเพียงเล็กน้อยเนื่องจากการลบ ขูดออก เพราะเห็นว่าเป็นภาพการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว ชาวบ้าน กลัวเด็กๆ จะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ร่องรอยที่เหลืออยู่น้อยมาก แต่ก็พอที่จะมองเห็นถึงความสามารถ ความงามและฝีมือของช่างแต้มได้