ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

วัดอุดมประชาราษฎร์

วัดอุดมประชาราษฎร์

ประวัติความเป็นมา

วัดอุดมประชาราษฎร์  ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ เดิมชื่อ วัดหัวระพา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒  เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๖.๘๐ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ผู้นำในการก่อสร้างคือ ญาคู  บุปผา ผาสุวิหาโร อดีตเจ้าอาวาสในสมัยนั้น หมดเงินทั้งสิ้นจำนวน ๖,๐๐๐ บาทเศษ ส่วนสถาปนิก เป็นช่างญวนชื่อ นายทองคำ  จันทร์เจริญ (ทองคำ  แซ่อึ่ง) และ นายคำมี   จันทร์เจริญ  สองพี่น้องได้มามีภรรยาอยู่ที่บ้านนาจารย์ขณะที่กำลังทำสิมหลังนี้  ต่อมานายทองคำได้เสียชีวิตขณะที่อายุไม่ถึง ๕๐ ปี  มีบุตรธิดารวม ๔ คน ยังมีผลงานอีกคือ
-สิมวัดบ้านหนองอีบุด  อ.ห้วยผึ้ง  จ.กาฬสินธุ์
-สิมวัดบ้านนา  ต.ม่วงนา  อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ (ทำเพียงเเอวขันก็หยุดเพราะเงินไม่พอ ได้รื้อทิ้งแล้ว)
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๘ พระครูวีระพรมคุณ  ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดอุดมประชาราษฎร์

ที่ตั้ง

บ้านนาจารย์  ถนนถีนานนท์  หมู่ที่ ๓  ตำบลนาจารย์  อำเภอเมือง  จังหวัดกาฬสินธุ์  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๗ไร่  ๒งาน  ๗๐ ตารางวา  อาณาเขตทิศเหนือประมาณ ๒ เส้น  ๑๐ วา จดถนสาธารณะ  ทิศใต้ประมาณ ๒ เส้น ๑๐วา จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกประมาณ ๓ เส้น จดหนองแวง  ทิศตะวันตกประมาณ ๓ เส้น  จดถนนสาธารณะ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๘ ตารางวา โฉนดที่ดิน เลขที่ ๖๖๙๑

อาคารเสนาสนะ

ประกอบด้วยอุโบสถ กว้าง ๘เมตร ยาว ๑๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
และกุฎิสงฆ์ ๑ หลัง  เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑

การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ

รูปที่ ๑ พระหง
รูปที่ ๒ พระเภา
รูปที่ ๓ พระอาจ
รูปที่ ๔ พระหุ่ง
รูปที่ ๕ พระบุบผา
รูปที่ ๖ พระเถิง
รูปที่ ๗ พระโข่
รูปที่ ๘ พระศรี
รูปที่ ๙ พระลาน
รูปที่ ๑๐ พระผง
รูปที่ ๑๑ พระเพชร
รูปที่ ๑๒พระกันยา
รูปที่ ๑๓ พระพูล
รูปที่ ๑๔ พระครูวีรธรรมคุณ
รูปที่ ๑๕ พระครูมงคลพุทธิคุณ

รูปแบบสิม ,วัสดุและโครงสร้าง

เป็นสิมขนาดใหญ่พิเศษ ตัวสิมยาว ๕ ช่วงเสา  กว้าง ๓ ช่วงเสา รวม ความยาว ๑๓.๒๗ เมตร กว้าง ๗.๘๕ เมตร ระเบียงกว้าง ๒.๖๕ เมตร หากนับรวมระเบียงโดยรอบ แล้วจะได้ความกว้าง ๑๔.๕๐ เมตร  และยาว ๒๐ เมตรพอดี  ความสูงของพื้นสิมภายในจากระดับดิน ๑.๔๐ เมตร  หลังคาลด ๓ชั้น  ได้ทรวดทรงพองาม  มีปีกนกวิ่งอ้อมตลอดโดยใช้เสานางเรียงสี่เหลี่ยมก่ออิฐรับโดยรอบ    ผนัง ๓ ช่วงเสาแรก  เจาะเป็นหน้าต่างทั้ง ๒ ด้าน อีก ๒ ช่วงเสาด้านพระประธานปิดทึบทุกช่องจะปั้นปูนเป็นอาร์คโค้ง
ส่วนโครงสร้างทั้งเสาและผนังใช้ก่ออิฐพื้นเมืองฉาบปูนปั้นลายประดับตามรูปแบบศิลปะของช่างญวน  โครงสร้างหลังคาทั้งอะเสในส่วนของหลังคาปีกนกนั้น  ช่างวางไม้ในทางนอนแทนที่จะวางในทางตั้ง  ซึ่งจะแข็งแรงกว่า(ขนาดไม้ ๑.๕x ๘ นิ้ว ระยะระหว่างช่วงเสา ๒.๖๕ เมตร) เครื่องมุงเป็นสังกะสีทั้งหลัง  การซ้อนหลังคา ๓ ชั้น  นับเป็นการแก้ปัญหาเรื่องระบายอากาศได้เป็นอย่างดี

ภาพด้านหลังสิมและด้านข้าง

รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้

มีโห่งไม้แกะลาย  ลำยอง  เป็นนาคข้างละ ๕ ตัว  โดยแกะสลักนูนขึ้นเป็นตัว ๆ เลื้อยเอาหัวลงไปทางพื้นดิน

หน้าบันด้านหน้าปั้นปูนนูนต่ำรูปครุฑคล้ายในธนบัตร  และมีมังกรม้วนหางอยู่ทั้ง ๒ ข้าง เป็นรูปแบบศิลปะของช่างญวนทั้งสิ้น

ด้านหน้าทางเข้า มีพญานาคเฝ้าประตู และ ประดับซุ้มโค้งทางเข้าประตูปั้นปูนรูปพระพุทธองค์ มีมังกรประดับอยู่ด้านบน

พญานาคเฝ้าประตู มีหงอนคล้ายไก่ คล้ายมังกร จนคล้ายสิงโตซึ่งน่าจะเป็นช่างญวนเป็นผู้ปั้นขึ้น

ภายในสิมมีฐานชุกชี และโต๊ะหมู่ซ้ายขวา

ด้านหลังพระประธาน มีฮูปแต้ม มีภาพมังกรอยู่กลางผนัง ส่วนพระบนโต๊ะหมู่ มีพระไม้ฝีมือพื้นบ้านอยู่บ้าง

ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน)

ที่น่าสนใจและมีคุณค่าพิเศษก็คือ ฮูปแต้ม ที่ช่าง(น่าจะเป็นช่างไท-อีสานพื้นบ้าน)เขียนไว้ในซุ้มของ ๒ ช่วงที่ปิดทึบและผนังด้านนอกเฉพาะผนังส่วนกะสัด(หรือลวงขื่อ) เป็นเรื่องราวเวสสันดรชาดก  พื้นของภาพเป็นสีปูนขาวของผนังที่เขียนนั้นเอง
ช่างแต้ม ผนังด้านนอกของสิมหลังนี้มีฝีมือดีมาก  การให้สีสันก็สวยงาม เขียนเต็มผนังหุ้มกลองด้านนอก  และด้านข้างอีกด้านละ ๒ ช่วงเสา เป็นเรื่องเวสสันดรชาดก(ภาพผะเหวด) ช่างแต้มคือ จารย์ผาย  อยู่บ้านคำเชียงวัน  ต.สหัสขันธ์  เขียนตามศรัทธาของเจ้าภาพ  ว่าจ้างเป็นช่องๆ ไปในแต่ละเรื่อง เช่น ดังคำจารึกไว้ใต้รูปเขียนหน้าหนึ่งว่า   “นายสา  สีบูรำ  มีใจศรัทธาอาศหลาด  ได้เงิน ๒ บาท  มาจ้างส่างแต้มมะหาพล  ขอให้บุญมาก ๆ”
ส่วนช่างคำ  พรพนม มาช่วยทำลายหน้าบัน  และตัวโหง่

ด้านหลังพระประธาน มีฮูปแต้ม มีภาพมังกรอยู่กลางผนัง ส่วนพระบนโต๊ะหมู่ มีพระไม้ฝีมือพื้นบ้านอยู่บ้าง