ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

วัดหัวเวียงรังษี

วัดหัวเวียงรังษี

ประวัติความเป็นมา

วัดหัวเวียงรังษี ตั้งเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสมา เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๒ การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาส เท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ ๑ พระเกตุ รูปที่ ๒ พระอินทร์ รูปที่ ๓ พระคูณ รูปที่ ๔ พระบุญ รูปที่ ๕ พระครูสา รูปที่ ๖ พระจีบ รูปที่ ๗ พระตัน รูปที่ ๘ พระหนูกัน ธมฺมทินฺโน พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๓๐ รูปที่ ๙ เจ้าอยู่การคำสมัยฐิตธมโม พ.ศ. ๒๕๓๐ถึงปัจจุบัน การศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐

ที่ตั้ง

วัดหัวเวียงรังษี ตั้งอยู่เลขที่ ๘๘๖ บ้านธาตุพนม ถนนนพนมพนารักษ์  หมู่ที่ ๒ ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๘๗ ตารางวา อาญาเลข ทิศเหนือประมาณ ๑ เส้น ๑๐ วา จดเขตที่ราชพัสดุที่ว่าการอำเภอเก่า ทิศใต้ประมาณ ๑ เส้น ๑๐ วา จดทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันออกประมาณ ๑ เส้น ๑๐ วา จดทางสาธารณประโยชน์ (ติดริมโขง) ทิศตะวันตกประมาณ ๑ เส้น ๑๐ วา จดหมู่บ้าน อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง ๑ เส้น ๑๐ วา ยาว ๑ เส้น ๑๘ วา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ศาลาการเปรียญ กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ กุฎิสงฆ์ จำนวน ๖ หลัง เป็นอาคารไม้ ๔ หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ หลัง ศาลาเอนกประสงค์ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๕ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ และ ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน ๑ หลัง ปูชนียวัตถุ มีพระประธาน ปางมารวิชัย สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

รูปแบบสิม วัสดุและโครงสร้าง

ด้านหน้าและด้านหลัง

รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้

โหง่ไม้ และหางหงส์สลักจากไม้เป็นรูปนาค

ซุ้มประตู และหน้าต่าง

พระประธานภายในสิม

ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน)

สีพื้นผนังที่เป็นฉากหลังเป็นสีของฬื้นหลังจากก่อกำแพงแล้วไม่การเตรียมพื้นผนัง สีที่เห็นเป็นสีขาวนวล
องค์ประกอบภาพที่ปรากฏเป็นตัวละคอนจากพุทธประวัติ อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ ภูเขา จะลอยเด่นจากพื้นผนัง ช่างแต้มจะไม่ทำการล้วงพื้นภาพดุจเดียวกับภาพแต้มที่ปรากฏพบเห็นกัน โดยทั่วไป ช่างแต้มมีความชำนาญเป็นพิเศษในการเขียนเส้นมุ่งแสดงเพื่อก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกด้วยความประณีตละเอียดอ่อนเป็นเส้นที่มีขนาดเล็กมาก แต่สะท้อนออกมาให้เห็นว่ามีความเด็ดเดี่ยว เฉียบขาด บรรยากาศของภาพส่วนรวมมองดูคล้ายกับเป็นงานวาดเส้น (Drawing)  แทนที่จะเป็นงานจิตรกรรมซื่งช่างแต้มจะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกออกมาด้วยสี เเม้ช่างแต้มจะมีความชำนิชำนาญต่อการใช้เส้นเป็นอย่างมาก แต่ใช่ว่าคุณค่าทางการใช้สีจะด้อยลงไปก็หาไม่ ในช่วงระยะเวลาที่ทำการเขียนภาพ สีที่ใช้อาจมีข้อจำกัดเพียงไม่กี่สี หรืออาจเกิดจากรสนิยมส่วนลึกของช่างแต้มเองก็เป็นได้
สีที่เห็นเด่นเป็นพิเศษและมีอาณาบริเวณของพื้นที่มากกว่าผู้อื่นได้ก็คือ สีครามเข้มสดใสมองเห็นเนื้อของสีครามแท้ ๆ มีน้ำหนักเข้มมิได้เจือด้วยสีขาวหรือสีอื่นใด