ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

วัดสุวรรณาวาส

ที่ตั้ง

บ้านกันทรวิชัย ต.กันทรวิชัย อ. กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

รูปแบบสิม วัสดุและโครงสร้าง

สิมวัดสุวรรณาวาส เป็นสิมกออิฐถือปูนอิทธิพลช่างญวนแบบไม่มีมุขหน้าขนาด ๔ ห้อง ยาว ๘.๗๓ เมตร กว้าง ๔.๙๘ เมตร ไม่ปรากฎปีสร้าง น่าจะมีอายุรุ่นเดียวกับสิมวัดโพธิ์ชัย บ้านหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์   จ.กาฬสินธุ์ (อาจเป็นช่างชุดเดียวกัน)

จากการสังเกตซุ้มก่อโค้งของหน้าต่างขนาดพื้นที่ภายใน ยาว ๖.๑๗ เมตร ไม่รวมฐานชุกชีกว้าง ๔.๑๐ เมตร ผนังก่ออิฐหุ้มเสาไม้กลมข้างละ ๕ ต้น ขึ้นรับคือไม้และอะเสมีฝ้าเพดานไม้กระดาน หลังคาลด ๒ ตับ ลดมุขหน้าหลังมุงกระเบื้องซีเมนต์หางว่าว เป็นสิมแบบมหาอุด เข้าเพียงประตูเดียว

องค์ประกอบประดับสิมเก่า

มีโหง่ ลำยอง และหางหงส์เป็นไม้

ซุ้มประตูหน้าปั้นปูนออกมาเพื่อป้องกันฝน ยอดซุ้มก่อยอดแหลมเตี้ยคล้ายเจดีย์ บานประตูหน้ามีอกเลาแกะสลักเป็นรูปคล้ายทวารบาลอยู่ท่ามกลางกนก เครือเถา ส่วนล่างของบานขวามือทำเป็นราหูกำลังแทะพระจันทร์แกะเป็นกระต่าย ๑ ตัว อยู่ในพระจันทร์ด้วยฝีมือของชาวบ้านแน่นอน น่าจะเป็นช่างชาวไท-อีสามที่ร่วมงานกับชางญวน เพราะเมื่อพิจารณาตัวคันทวยรูปนาคอ่อนช้อยข้างละ ๕ ตัวนั้น ได้เนื้อหาของอีสานอย่างลึกซึ้งและงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง (เฉพาะความงามคันทวยนาคทำให้สิม หลังนี้มีคุณค่าโดดเด่นสะดุดตาขึ้นมาอย่างประหลาด)

หน้าต่าง และ แอวขัน

ส่วนรูปสิงโตปูนปั้นอยู่หน้าสิมทั้งคู่นั้นเป็นฝีมือช่างญวนอย่างมิต้องสงสัย (บัดนี้ได้พังทลายสูญหายหมดแล้วเป็นสิมกออิฐถือปูนอิทธิพลช่างญวนแบบไม่มีมุขหน้าขนาด ๔ ห้อง ยาว ๘.๗๓ เมตร กว้าง ๔.๙๘ เมตร ไม่ปรากฎปีสร้าง น่าจะมีอายรนเดียวกับสิมวัดโพธิ์ชัย บ้านหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์   จ.กาฬสินธุ์ (อาจเป็นช่างชุดเดียวกันด้วยซ้ำ)

ภายในสิม มีฐานชุกชี ที่บูรณะใหม่และพระประธานเป็นองค์ใหม่

ปั้นรูปพระพุทธองค์ประทับอยู่กลางมีลิงอยู่ซ้ายช้างอยู่ขวา เป็นแบบปางป่าเลไลยก์

พระพุทธมิ่งเมือง
พระพุทธมิ่งเมืองหรือพระพุทธรูปสุวรรณมาลี ตั้งอยู่ที่วัดสุวรรณาวาส ตำบลโคกพระ สร้างด้วยหินทรายแดง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยทวาราวดีที่ชาวมหาสารคามนับถือกันมาประดิษฐานที่วัดสุวรรณาวาสตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย มีความศักดิ์สิทธิ์มากชาวมหาสารคามให้ความเคารพนับถือ และเชื่อว่าสามารถดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 213 (มหาสารคามกาฬสินธุ์)ห่างจากตัวเมืองประมาณ 14 กิโลเมตรเศษ (อยู่ทางด้านซ้ายมือ)

หลวงพ่อพระยืน (วัดสุวรรณาวาส) หลวงพ่อพระยืน (วัดพุทธมงคล) ทั้งสองพระองค์ทรงอานุภาพ ศักดิ์สิทธิ์ เป็นปูชนียวัตถุ ที่ควรแก่กาสักการะเคารพบูชายิ่ง ทั้งสององค์นี้ชาวบ้านนิยมเรียกกัน ว่า ” หลวงพ่อพระยืน ” เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งเป็นมิ่งขวัญเป็นที่พึ่งพาทางใจของชาวพุทธ ทุกถ้วนหน้าโดยเฉพาะ ชาวกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม และเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไปพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ เป็นปรางสรงน้ำ มีความสูงตลอดองค์ประมาณ 8 ศอก กว้าง 2 ศอก พระเนตรและเนื้อองค์พระ สร้างด้วยศิลาแลงอย่างดี เป็นพระพุทธรูปที่นิยมสร้างในสมัยขอมก่อนยุคสุโขทัย

หลวงพ่อพระยืนทั้งสอง ผินพระพักตร์ไปทางทิศทักษิณ หลวงพ่อพระยืนทั้งสององค์อยู่ห่างกันประมาณ 1,250 เมตร เป็นปูชนียวัตถุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองตามตำนานหรือประวัติที่หาหลักฐานยืนยันได้จากใบเสมาที่ฝังอยู่ใกล้องค์พระ เขียนเป็นภาษาขอม ว่าสร้างปีฮวดสง่า พุทธศักราช 1399 ปัจจุบันยังมีตัวอักษรปรากฏที่ใบเสมาแต่เลอะเลือนมากแล้ว ตามคำบอกเล่าสืบทอดกันมามีผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าได้รับฟังจากบรรพบุรุษเล่าว่าเดิมที่ดินแถบนี้ขอมได้ครอบครองมาก่อน ต่อมาทางนครเวียงจันทร์มีอำนาจเข้าครอบครองจากขอม มีเจ้าผู้ครอบครองโดยอิสระ เรียกกันว่า “เมืองกันทาง” หรือ “เมืองคันธาธิราช” ก่อนปีมะเส็งจุลศักราช ( ปี พ.ศ.1328) ผู้ครองเมืองคนสุดท้ายนามว่า “ท้าวลินจง” ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงบริเวณ” มีภรรยาชื่อ บัวคำ ปกครองราษฎรด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

ท้าวลินจงมีบุตรชายคนเดียวชื่อ ท้าวสิงห์โต หรือ ท้าวลินทอง ซึ่งเป็นผู้ที่มีจิตใจโหดเหี้ยมทารุณมาก ท้าวลินจงชราลง ก็ต้องการหาคนมาปกครองเมืองแทนตนหากให้ท้าวลินทองมาปกครองแทนก็เป็นการไม่เหมาะสมจะเป็นเหตุให้ราษฎรต้องเดือดร้อนเพราะขาดความเมตตา เมื่อทราบถึงท้าวลินทอง ทำให้เกิดความโกรธแค้นผู้เป็นบิดายิ่งนัก จึงได้ตัดพ้อต่อว่าบิดาต่างๆ นานา แล้วบังคับให้บิดาตั้งตนเป็นผู้ปกครองเมืองแทน ผู้เป็นบิดาไม่ยินยอม ท้าวลินทองจึงจับผู้เป็นบิดาขังทรมานด้วยการเฆี่ยน ทุบตี ใช้มีดกรีดตามตัว เพื่อบังคับให้บิดายกเมืองให้ตน บิดาก็หาได้ยอมไม่ บิดาได้รับการทรมานต่อไป
โดยการโดนขังในห้องมืด ห้ามข้าว ห้ามน้ำ มิให้ผู้ใดเข้าเยี่ยมโดยเด็ดขาด นอกจากมารดาเพียงผู้เดียว แต่ไม่ให้นำน้ำนำอาหารไปให้บิดา มารดา ได้ทัดทานอ้อนวอนอย่างใดท้าวลินทองก็หาฟังไม่ ด้วยความรักและความห่วงใยในสามี นางจึงทำอุบายนำข้าว น้ำ ให้เอาผ้าสะไบเฉียงชุบข้าวบดผสมน้ำนำไปเยี่ยมสามี ให้สามีดูดกินประทังชีวิตไปวันๆ แต่หาได้พ้นสายตาของท้าวลินทองไม่

ดังนั้นจึงห้ามให้เข้าเยี่ยมต่อไป ท้าวลินจง อดข้าว อดน้ำ ได้รับความทรมานแสนสาหัส และได้ถึงแก่ความตายในที่สุด แต่ก่อนจะสิ้นใจ ท้าวลินจงได้ตั้งอธิษฐานฝากเทพยดาผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมผู้สถิตย์อยู่ ณ พื้นธรณีนั้นว่า

“ด้วยจิตใจบริสุทธิ์ของข้าพเจ้า เพื่อหวังความสงบสุขของบ้านเมืองอันเป็นที่ตั้งอยู่อาศัยของข้าพเจ้า แต่เหตุการณ์ในชีวิตกลับมีการเป็นไปได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสขอให้เทพยดาฟ้าดินผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมขอให้ข้าพเจ้าไปเกิดในที่สุขเถิด และขอให้มนุษย์มีจิตใจโหดร้าย ทารุณ ขาดคุณธรรม ไม่มีสัจจะ พูดโกหก หลอกลวง ไม่สัตย์ซื่อ นับแต่นี้ไปข้างหน้าจะเป็นผู้ใดก็ตาม หากมาเป็นเจ้าเมืองนี้แล้วขอให้มีความเดือดร้อนหายนะต่างๆ นานา เถิด”

เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็สิ้นลมหายใจ บางบัวคำผู้เป็นมารดาได้ทราบว่าสามีเสียชีวิต จึงได้ต่อว่าท้าวลินทองผู้เป็นบุตรว่าทรมานบิดาของตนถึงแก่ความตาย ท้วลินทองไม่พอใจ จึงฆ่ามารดาของตนอีกคน จากนั้นท้าวลินทองก็ขึ้นครองเมืองคันธาธิราช สืบมา นับแต่ที่ท้าวลินทองครองเมืองทำให้บ้านเมืองมีแต่ความระส่ำระสาย ประชาราษฎร์ได้รับความเดือดร้อน ทำให้ท้าวลินทองไม่สบายใจ จึงหาโหรมาทำนาย  ซึ่งเป็นโหรจากเมืองพิมาย   โหรทำนายว่า ท้าวลินทองได้ทำบาปกรรมไว้มาก และผลจากการอธิษฐานของบิดา และยังได้ฆ่ามารดาของตน ทั้งจะล้างบาปได้ให้สร้างพระพุทธรูปเพื่ออุทิศบุญกุศลทดแทนคุณบิดามารดา ท้าวลินทองจึงสร้างพระพุทธรูปขึ้น 2 องค์ เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา พระพุทธรูปองค์หนึ่งสร้างทดแทนคุณมารดา สร้างที่นอกเขตกำแพงเมืองทางทิศอุดร คือพระพุทธรูปมิ่งเมืองมีหน้าตาคล้ายมารดา ประดิษฐานอยู่ที่วัดสุวรรณาวาส และสร้างพระพุทธรูปองค์ที่สองเพื่อทดแทนคุณบิดาสร้างขึ้นในกำแพงเมืองมีลักษณะหน้าตาคล้ายบิดา ประดิษฐานที่วัดบ้านสระ (วัดพุทธมงคล) ซึ่งทั้งสององค์ผินพักตร์ไปเบื้องทักษิณทิศ เมื่อสร้างเสร็จแล้วความกระวนกระวายใจก็มิได้เบาบาลง จากนั้นท้าวลินทองก็ล้มป่วยลงอย่างกระทันหัน พอดีโหรจากเมืองพิมายเดินทางผ่านมา และขอเข้าทำนายดวงชะตาชีวิตของท้าวลินทอง ได้ทำนายว่า ท้วลินทองจะตายภายใน 7 วัน ท้าวลินทองได้ยินถึงกับบันดาลโทสะสั่งประหารชีวิตโหรทันที แต่พวกเข้าราชการได้ปรึกษาขอไว้ชีวิตโหร จึงได้ทำนายต่อไปว่า หากท้าวลินทองสร้างพระพุทธรูปปางพุทธไสยาสน์ด้วยทองคำหนักเท่าตัวขึ้นอีกองค์หนึ่ง ความทุกข์ร้อนที่มีอยู่ก็จะบรรเทาลง ท้าวลินทองจึงได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ด้วยทองคำตามคำทำนายของโหรขึ้นแล้วสร้างพระอุโบสถขึ้นเพื่อครอบองค์พระไว้ แต่ด้วยบาปกรรมมีมากจึงสร้างไม่สำเร็จ ท้าวลินทองก็ได้ถึงแก่ความตาย แต่ก่อนสิ้นใจท้าวลินทองได้อธิษฐานว่า “ขอพระพุทธรูปทองคำอย่าให้คนพบเห็นเป็นอันขาด หากผู้ใดมีเคราะห์กรรมได้พบเห็นขอให้ผู้นั้นล้มป่วย พินาศฉิบหายและถึงแก่ความตาย” ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีผู้ใด ได้พบเห็นพระอุโบสถ(พระพุทธรูปทองคำ) นั้นเลย กาลล่วงเลยมานานจนเกิดเป็นป่าร้างต้นไม้ปกคลุมหนาทึบพระพุทธรูปทองคำพบเห็น ถ้าผู้ใดชะตาถึงฆาตพบเห็นก็เกิดอาเพทป่วยไข้ถึงตายทุกราย ความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เล่าลือตราบเท่าทุกวันนี้

ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวคณะสงฆ์อำเภอกันทรวิชัย โดยมีท่านพระรูประจักษณ์ธรรมวิชัย (อดีตเจ้าคณะอำเภอกันทรวิชัย) กับหลวงพ่อพระครูปัญญาวุฒิชัยเจ้าคณะอำเภอ (เจ้าอาวาสวัดพุทธมงคล) บ้านสระ หลวงพ่อพระครูวิชัยกิตติคุณ รองเจ้าคณะอำเภอกันทรวิชัย (เจ้าอาวาสวัดสุวรรณมงคล) บ้านคันธาร์ ได้ปรับปรุงเป็นสำนักเจริญวิปัสสนากรรมฐานของคณะสงฆ์ และผู้สนใจในการปฏิบัตธรรมสถานที่ร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรเป็นอย่างยิ่ง ให้ชื่อว่า วัดพระพุทธไสยาสน์(วัดดอนพระนอน) และเป็นที่เคารพบูชาของชาวอำเภอกันทรวิชัยและใกล้เคียงโดยทั่วไป

องค์ประกอบประดับสิมใหม่