ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วัดสระทอง

ประวัติความเป็นมา

บ้านบัวเป้นชุมชนเก่าแก่อยู่ก่อนการตั้งอำเภอมัญจาคีรี ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๔ พ่อใหญ่ขุนศรีวอ, พ่อใหญ่โคตรวงศ์, พ่อใหญ่โคตะ, พ่อใหญ่กุน  และพ่อใหญ่แป  ได้อพยพมาจากโนนบ้านเค้า(วัดป่ามัญจาคีรีในปัจจุบัน) หนีโรคระบาดและการขาดแคลนน้ำมาตั้งบ้านอยู่ริมหนองสระบัว ซึ่งมีดอกบัวขึ้นเต็มหนองสวยงามมากจึง ได้ตั้งชื่อบ้านว่า  บ้านบัว พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างวัดขึ้นโดยตั้งชื่อว่า  วัดสระทอง  มีท่านพระครูเสาร์  สมโน  เจ้าคณะแขวงกิตติมศักดิ์เป็นเจ้าคณะอำเภอองค์แรกของ อ.กุดเค้า (คือ อ.มัญจาคีรีในปัจจุบัน) ต่อมาทางราชการเห็นความเป็นปึกแผ่นของผู้คนในหมู่บ้าน  จึงกำหนดให้เป็นหมู่ ๑ ต.กุดเค้า  โดยมีขุนพิสัยเป็นกำนันของตำบล นับว่าเป็นสิมแห่งแรกของดินแดนแถบนี้ การอพยพครั้งนั้นได้อัญเชิญพระพุทธรูปหินทรายแดงมาด้วย เป็นพระพุทธรูปที่มีน้ำหนักมาก มีรูปแบบอีสานบริสุทธิ์
วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ สิมนี้ได้รับมอบรางวัลอาคารทรงคุณค่า (Award of Merit) ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมแห่งเอเชียและแปซิฟิกจากองค์กรยูเนสโก

ที่ตั้ง

บ้านบัว อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

รูปแบบสิม วัสดุและโครงสร้าง

เป็นสิมทึบก่ออิฐถือปูนยาว ๓ ห้อง ๗.๕๐ เมตร กว้าง ๕ เมตร  ประตูเข้าด้านเดียว เจาะซุ้มหน้าต่างด้านข้างๆละ ๒ ช่องมีซุ้มหลอกด้านผนังข้างพระประธาน  ปั้นปูนเป็นเสาเหลี่ยมย่อมุมยอดกลีบบัวมีดอก ๔ กลีบ ประดับกระจกเงาวงกลมเป็นแนวไปตลอดเหนือฐานแอวขันที่ก่อแบบช่างพื้นบ้านอย่างบริสุทธิ์  ซุ้มประตูก็ทำอย่างเดียวกัน  แต่มีเพิ่มไม้แกะสลักส่วนวงกรอบบน  โครงหลังคา เป็นไม้เนื้อแข็งทั้งหมด  มีการแกะลวดลายลงบนขื่อและดั้งแต่พองาม  ดูดีกว่าเป็นไม้เฉยๆ ผนังภายในสิมโล่งไม่ทำลวดลายหรือแต้มรูปแต่อย่างใด  พระประธานเป็นพระไม้ประดิษฐานบนฐานชุกชีไม่สูงนัก  เพียงองค์เดียว (สมัยก่อนมีพระบริวารอีก ๔ องค์)  ล้วนเป็นพุทธศิลป์แบบพื้นบ้านอีสานทั้งสิ้นนับว่าสิมวัดสระทองหลังนี้มีคุณค่าในทางเอกลักษณ์ช่างไท-อีสานพื้นบ้านได้อย่างเต็มเปี่ยม  แม้ว่าฝีมือปั้นปูนจะดูเก้อเขินกว่าช่างฝีมือทั่วๆไป  แต่ก็ให้ความรู้สึกแห่งความจริงใจและตั้งใจทำตามสติปัญญาที่ไม่รู้มากเห็นมาก  จึงบ่งบอกออกมาจากความบริสุทธิ์ซื่อซึ่งถือว่ามีคุณค่ายิ่งในทางศิลปะ ปัจจุบันมีการบูรณะปฏิสังขรเอาไว้อย่างดี

หลังคาทรงจั่วชั้นเดียวมุงกระเบื้องซีเมนต์หางว่าว มีปีกนกยื่นคลุมตลอด  เชิงชายฉลุไม้เป็นลายฟันปลาโดยรอบ

รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้

๑. โหง่ ไม้แกะสลักช่างพื้นบัาน ยอดแหลมเรียวเล็ก ลำยอง สลักไม้ลายฟันปลา
๒. หางหงส์ สลักไมู้รปนาคแบบพื้นเมือง

หน้าบันด้านหน้าสิม และ ด้านหลังสิม

๓. สีหน้า  หรือ หน้าบัน ด้านหน้าปั้นลายคล้ายรูปฉัตร ๓ ชั้น  ประดับกระจกเงา  ด้านหลังปั้นนูนเป็นรูปแว่นโค้งซ้อนกัน ๓ ชั้น  มีเทวดาประจำอยู่ในรูปแว่นโค้งนั้น  และมีก้านโค้งย้อยออกไปทั้ง ๒ ด้าน  มีดอก ๔ กลีบประดับกระจกเงาตรงกลางคล้ายกับดวงดาวทอแสงเป็นประกายน่าดูมาก  มุมล่างทั้งซ้ายขวาเป็นรูปสับปะคับและคนขี่บนคอ

๔. ผนังด้านข้างประตูปั้นปูนนูนรูปช้างมีคนนั้งบนหลังหันหน้าหาประตูทั้ง ๒ ข้าง  เสาเหลี่ยมปั้นปูนหลอกไว้ด้านนอกแต่เสาจริงที่รับโครงสร้างหลังคาเป็นเสาไม้ขนาด  ๒๐x๒๐ ซม.
๕. นาคปูนปั้นทางเฝ้าบันไดทางขึ้น ที่ความแปลกจากสิมอื่นๆ คือ หน้าตาของพญานาคต่างกัน ตัวหนึ่งหน้าเรียวมีหงอนยาว อีกตัวหนึ่งหน้าอ้วนมีหงอนสั้น

พระประธานในปัจจุบัน และ ธรรมมาศ ในหอแจก

ภายในสิม