ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

วัดกลางโคกค้อ

ประวัติความเป็นมา

วัดจักรวาฬภูมิพินิ  ตั้งเมื่อ  พ.ศ. ๒๓๓๐ โดยมี นายสิงห์  สิงห์เสนา  เดิมบ้านอยู่หนองแล้ง  แขวงเมืองสุวรรณภูมิ  ได้พาครอบครัวและญาติมาตั้งบ้านใหม่ชื่อว่า  บ้านหนองหมื่นถ่าน  ต่อมาได้ชักชวนชาวบ้านตั้งวัดขึ้น  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑  เขตวิสุงคามสีมา  กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๐ เมตร

ที่ตั้ง

วัดกลางโคกค้อ  ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ โดยมีพระครูเกตุ  เป็นผู้นำชาวบ้านในการสร้างวัด  เป็นพระมาจากเมืองชัยภูมิได้ตั้งวัดนี้ขึ้นให้ชื่อว่า “วัดกลางโคกค้อ” เพราะตั้งอยู่ระหว่างกลางของบ้านโคกและบ้านค้อ  ซึ่งอยู่ใกล้กัน  ในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ นั้น มีเพียงกุฎิ และหอแจกอย่างละ ๑ หลัง  ต่อมาพระครูเกตุ บอกบุญไปยังแม่ทองคำ ซึ่งเป็นเศรษฐีนีของเมืองกาฬสินธุ์สมัยนั้น  กอปรกับได้ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสร่วมทำบุญสมทบอีกมาก  ได้พากันแห่หามไหทอง ๒ ไห  มาร่วมก่อสร้างสิม  โดยเอาทองมาฝังใน บือสิม(หลักสิม) ไม่ทัน ก็เลยเอาไปฝังที่อื่น(ไม่ทราบว่าอยู่ ณ ที่ใด) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒   เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๕.๑๐ เมตร  ยาว ๖.๑๐ เมตร  และบริหารการปกครอง  มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม  คือ
รูปที่ ๑ พระเกตุ พ.ศ. ๒๓๖๓-๒๓๖๘
รูปที่ ๒ พระฉลวย
รูปที่ ๓ พระหลอด
รูปที่ ๔ พระครูปภัสสรนวกิจ(พระครูก้าน)
รูปที่ ๕ พระบุญสวน พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๒๘
รูปที่ ๖ เจ้าอธิการวิรัตน์  ปะภัสสะโร พ.ศ. ๒๕๓๔-๒๕๓๕
รูปที่ ๗ พระครูปัญญาภิวัฒน์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๖
สมัยหลวงตาก้าน  ได้ทำกุฎิอีก ๑ หลัง  และหอแจกใหญ่ ๑ หลัง  เป็นไม้เต็งทั้งหลัง  ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ สิ้นเงิน ๒๗๑.๒๕ บาท  ผู้นำสร้างฝ่ายฆราวาสมีคุณตาสมุห์น้อย  เพ็ชรรัตน์  และตากำนันสุดชา  ไกรพินิจ  เดิมหอแจกหลังนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสิม  โดยหันหน้าเข้าหากันคือ  สิมหันหน้าไปทางทิศตะวันตก  ส่วนหอแจกนั้นหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ห่างกันราว ๕เมตร  บัดนี้ได้รื้อออกแล้วขยับไปสร้างหอแจก  หลังใหม่เป็นแบบครึ่งปูนครึ่งไม้ (มะค่าโมง) สิ้นเงิน ๑ ล้าน ๓ แสน ในสมัยพระครูบุณสวน (ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเจ้าคณะตำบลยางตลาด)  การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม  เปิดสอนเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๖๕  และศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด  เปิดสอน พ.ศ.๒๕๓๖

อาคารเสนาสนะ

รูปแบบสิม ,วัสดุและโครงสร้าง

            แปลนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว ๓ ช่วง  เสา ๕.๕๐ เมตร กว้าง ๔ เมตร  มีรับปีกนกทั้งสิ้น ๑๒ ต้น  หลังคาทรงจั่วชั้นเดียวมุงกระเบื้องดินขอ  มีแป้นลมไม้ปิดหน้าทำอ่อนช้อยรับกับทรงสิม

ลักษณะพิเศษที่แป้นลมนี้ก็คือช่างได้แกะเป็นลายเส้นกนก   ก้านดก แบบพื้นบ้านอีสาน  ตลอดไปถึงไม้เชิงชายรับชานจั่วด้วย  ดูแปลกตาและได้รับคุณค่าทางศิลปะมากพอสมควร  มีโห่งติดอยู่แต่หางหงส์หลุดร่วงไปหมด  หน้าบันเรียบ (ซ่อมใหม่) มีชานจั่วมุงดินขอเช่นกัน  ส่วนหลังคาปีกนกนั้นมุงกระเบื้องดินขอโดยรอบ (ซ่อมใหม่)  มีบันได ๔ ขั้นขึ้นไปสู่ตัวสิมซึ่งเจาะเป็นทางเข้า เบี่ยงมาทางขวามือ นับเป็นการแก้ปัญหาของการใช้พื้นที่ภายในได้ดีกว่าการเจาะทางเข้าตรงกลาง (เพราะเจาะไม่ได้อยู่แล้ว  ติดเสารับขื่อซึ่งอยู่ตรงกลางพอดี)  บัวของฐานแอวขันของสิมหลังนี้บับได้ว่าลงตัวเหมาะเจาะสมกับรูปแบบของช่างพื้นบ้านโดยแท้

รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้

ผนังก็นิยมทำเป็นขั้นบันไดไล่ขึ้นไปสู่ผนังด้านหลังพระประธานตามลักษณะของสิมโปร่งอีสานทั่วๆไป ปัจจุบันมีการติดเหล็กดัดโดยรอบสิม ส่วนฐานชุกชีนั้นทำสูงใหญ่เป็นฐานโบกคว่ำโบกหงายชันกว่าปกติ  ในชั้นล่างส่วนโครงสร้างและวัสดุนั้น  ตัวฐานและผนังใช่ก่ออิฐฉาบปูนพื้นบ้าน (ชะทาย) เสากลมไม้เนื้อแข็ง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ ซม. เครื่องบนเป็นไม้ทั้งหมด  ทั้งขื่อ,ด้ง  และจันทันยังมีสภาพมั่นคงแข็งแรง  มีการบูรณะโดยโครงการค่ายอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อ ปีพ.ศ.๒๕๓๙

ภาพภายในสิม ฐานชุกชีเดิม พระประธานใหม่ และ โต๊ะหมู่สมัยปัจจุบัน