ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ฤา สักอีสาน จะสาบสูญ” …ร่วมสำรวจร่องรอยวัฒนธรรมผ่านลวดลายสักบนเรือนร่างชายอีสาน

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 เวลา 13.30-15.30 น. ที่ผ่านมา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ หลักสูตรวิจัยวัฒนธรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “ฤา สักอีสาน จะสาบสูญ ” โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักวิชาการ นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมไปถึงในต่างประเทศ โดยเสวนาผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ด้วยแอปพลิเคชัน Zoom ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มากความสามารถโดยเฉพาะด้านการเก็บรักษาวัฒนธรรมลายสักผ่านเลนส์กล้อง คือ อาจารย์ชาญพิชิต พลทองสำราญ ผู้ดำเนินการเสนา คือ อาจารย์ ผศ.ดร.ภัทร์ คชภักดี อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ชาญพิชิต พลทองสำราญ เป็น ศิลปิน ช่างภาพ นักเขียน ครูสอนศิลปะ และนักเดินทาง ด้วยบทบาทและมุมมองที่หลากหลายทำให้อาจารย์ชาญพิชิต สามารถถ่ายทอดมุมมองชีวิต วัฒนธรรมของผู้คนผ่านเลนส์กล้องได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการถ่ายทอดเรื่องราวของการสักลาย หรือ สับขาลาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของชายล้านช้างและล้านนา ในการสักลวดขายลงบนลำตัว ขา การเดินทางเพื่อไปบันทึกภาพมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าว ทำให้อาจารย์ชาญพิชิตได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กับรางวัล popular vote จากการประกวด 10 ภาพเล่าเรื่องของนิตยสาร National Geographic

การสักลายบนเรือนร่างของชายอีสาน เป็นวัฒนธรรมที่นิยมมากในอดีต ดังปรากฏร่องรอยหลักฐานบนเรือนร่างของพ่อเฒ่า พ่อแก่รุ่นปู่ตา ที่สักลวดลายต่าง ๆ บนขา และยังปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้มอีกด้วย ซึ่งวัฒนธรรมการสักลายนั้นเกิดขึ้นจากค่านิยมในอดีต มองว่าการสักลายจะทำให้ผู้ชายคนนั้นเท่ มีความอดทน แข็งแกร่ง ไม่นิยมให้ขาเป็นสีขาว หากชายคนใดมีรอยสักย่อมเป็นที่ชื่นชมในบรรดาหญิงสาว

ลวดลายสักของแต่ละชาติพันธุ์จะมีความแตกต่างกันไป เช่น ชาติพันธุ์กะตะ ไทญ้อ กะเลิง ไทลาว ฯลฯ มักเป็นลวดลายดอกไม้บ้าง มอมบ้าง ซึ่งการสร้างสรรค์ลวดลายของรอยสักนั้นสามารถสะท้อนแนวคิด ฝีมือของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี แต่ก็น่าเสียดายที่อายุของวัฒนธรรมการสักขาลายนี้เริ่มลดน้อยลงทุกวัน

อาจารย์ชาญพิชิต พลทองสำราญได้เล่าเรื่องราวระหว่างการเดินทางไปบันทึกภาพลายสัก ซึ่งเป็นการเดินทางที่ทำให้พบเห็นวิถีชีวิตของผู้คน และพบว่าคุณปู่ คุณตาเจ้าของลายสักนั้นภูมิใจที่จะได้โชว์ลวดลายอันทรงคุณค่า และอาจารย์ชาญพิชิตก็พบความสุขระหว่างการบันทึกความทรงจำ วัฒนธรรม และรอยยิ้มนั้นเช่นกัน ซึ่งอาจารย์ชาญพิชิตได้ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของหนังสือและนิทรรศการอีกด้วย ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ผ่านทาง Facebook ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ช่วงท้ายของการเสวนาออนไลน์ มีการเปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักศึกษา และผู้ร่วมเสวนาได้ถาม-ตอบ ก่อนปิดการเสวนาลงในเวลา 15.30 น.

“ศิลปะยืนยาว  ชีวิตสั้น” วลีอมตะของศาสตราจารย์ ดร.ศิลป์  พีระศรี คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงนัก ลวดลายสักบนร่างกายชายหนุ่มอีสาน มีอายุที่ลดน้อยลงพร้อม ๆ กับวันและวัย สับขาลายหรือ สักขาลาย
ที่เคยเป็นค่านิยมของผู้คน ก็แปรเปลี่ยนตามสายธารกาลเวลา แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะยังไม่สาบสูญไปไหน หากยังมีดวงตาของคนรุ่นหลังที่ยังคงมองเห็น มีดวงตาที่พินิจถึงร่องรอยความงดงามและถนอมรักษาเอาไว้ด้วยรูปแบบต่าง ๆ และแม้ชีวิตจะแสนสั้นจนสลายไป แต่ความงดงามของศิลปะนั้นย่อมจะคงอยู่ตราบนานเท่านาน

 ข่าว : ธิดารัตน์  สีหะเกรียงไกร / บุญยืน เปล่งวาจา ภาพ:ทวีศักดิ์ กุสุมาลย์

]]>