ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รังสรรค์ วงศ์งาม (ลำกลอน)

รังสรรค์ วงศ์งาม

นายรังสรรค์ วงศ์งาม เกิดเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ ที่บ้านกระเดียน ตำบลกระเดียน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันอายุ ๖๘ ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

นายรังสรรค์ วงศ์งาม เริ่มเข้าสู่วงการหมอลำตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี ด้วยการเป็นหมอลำกลอนชาย ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ ได้มีโอกาสร่วมงานกับหมอลำหมู่คณะเพชรอุบล นำทีมโดย นาย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม และนางอังคนางค์ คุณไชย ปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ ความสามารถด้านการลำของนายรังสรรค์ วงศ์งาม มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ หมอลำฝ่ายชาย ในงานมหกรรมวัฒนธรรมภาคอีสาน ครั้งที่ ๒ ด้วยความสามารถเชิงประจักษ์นี้ จึงได้รับเลือกให้ถวายการแสดงหมอลำหน้าพลับพลาที่ประทับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เนื่องในการเสด็จเปิดสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ณ เทศบาลตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคมพุทธศักราช ๒๕๔๙ พรสวรรค์ด้านการลำของนายรังสรรค์ วงศ์งาม เป็นที่ยอมรับเชิงประจักษ์ยิ่งขึ้น เมื่อได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินดีเด่น การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน หมอลำเรื่องต่อกลอน จากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙

จากการสั่งสมประสบการณ์ด้านการลำมานานหลายปี ทำให้ นายรังสรรค์ วงศ์งาม เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแสดงหมอลำ ของจังหวัดอุบลราชธานี และได้รับเชิญเป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้และเป็นผู้ฝึกสอนการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ เป็นวิทยากรในการอภิปรายเชิงวิชาการ เรื่อง “เยาวชนกับการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน” จัดโดยสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี ปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ เป็นวิทยากรพิเศษสอน “รำเซิ้งแห่กลองยาว” ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของเรือนจำกลางอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และในปี

พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นวิทยากรฝึกการแสดง “ลำซิ่งวัยใส” แก่นักเรียนโรงเรียนนารีนุกูล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

ด้วยเกียรติประวัติและความเสียสละอุทิศตนเพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมอีสานให้ยั่งยืน กอปรกับพรสวรรค์และความสามารถอันโดดเด่นด้านการร้องหมอลำ นายรังสรรค์ วงศ์งาม จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ลำกลอน) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป