ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

มาโนช พรหมสิงห์ (วรรณกรรมร่วมสมัย)

มาโนช พรหมสิงห์

นายมาโนช พรหมสิงห์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ อายุ ๖๐ ปี เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนเทศบาลวารินวิชาชาติ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี ระดับปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและเป็นครูสอนคณิตศาสตร์อยู่นานหลายปีก่อนจะลาออกมาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง

หลังจาก มาโนช พรหมสิงห์ ลาออกจากราชการครู เขาตั้งใจผลิตผลงานเขียนอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับการปลูกดอกไม้ส่งขายในที่ดินของบิดามารดาที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีไปด้วย ซึ่งการเขียนหนังสือนั้น เกิดจากผลพวงที่ชอบอ่านหนังสือ แม้จะเรียนมาทางคณิตศาสตร์แต่เป็นคนรักการอ่านและอ่านหนังสือวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องจนทำให้อยากเขียนดูบ้าง ซึ่งเขาเริ่มเขียนเรื่องสั้นและบทกวีเพื่อส่งตีพิมพ์ในหน้านิตยสารต่าง ๆ และได้รับการพิจารณาตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลงานเป็นที่พูดถึงในวงการวรรณกรรมเรื่องการใช้ภาษาที่สวยงาม สละสลวย พร้อมทั้งมุมมองในการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ละเมียดละไม ผสานเรื่องเล่าของคนสมัยโบราณทำให้เนื้อเรื่องมีเสน่ห์ชวนติดตาม

จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๔๐ มาโนช พรหมสิงห์ มีผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มแรกออกมาในชื่อ “คุกดอกไม้” ซึ่งได้รับความสนใจจากนักอ่านยิ่งนัก จากนั้น ปี พ.ศ.๒๕๔๕ เขามีผลงานรวมบทกวีในชื่อ “ณ ดวงตาเธอมีดาวประกายพรึก” ซึ่งได้รับรางวัล Indy Book Awards จากนั้นปีเดียวกันเขามีผลงานความเรียงเรื่อง “เสียงเพรียกจากสวนดอกไม้” และปี พ.ศ.๒๕๔๘ เขามีผลงานต่อเนื่องออกมาอีกในรวมเรื่องสั้นชื่อ “สายลมบนถนนโบราณ” และปี พ.ศ.๒๕๕๓ มีผลงานรวมเรื่องสั้นออกมาอีกเล่มในชื่อ “อีสานกู” และรวมบทกวี “กบฏไม่มีวันตาย” จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๕๖ เขามีนวนิยายเล่มแรกในชีวิตชื่อ “สายรุ้งกลางซากผุกร่อน”

ด้วยผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทำให้ ปี พ.ศ.๒๕๕๑ เขาได้รับการยกย่องให้เข้ารับรางวัลรพีพร ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักเขียนที่ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่องและยึดอาชีพนักเขียนเพียงอย่างเดียว ถือเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ปัจจุบันนอกจากเขียนหนังสือแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือ “ชายคาเรื่องสั้น” ที่ร่วมดำเนินการโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอีกด้วย นายมาโนช พรหมสิงห์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (วรรณกรรมร่วมสมัย) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป