ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

มหาสิลา วีระวงส์ (อมรศิลปินมรดกอีสาน)

มหาสิลา วีระวงส์

นายสิลา วีระวงส์ มีผลงานเป็นที่รู้จักในแวดวงนักปราชญ์อาจารย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขงนับย้อนหลังไปประมาณ ๗๕ ปีเป็นต้นมา อันได้แก่ การถอดคำประพันธ์วรรณคดีลุ่มน้ำโขงจากหนังสือผูกใบลานเป็นอักษรไทยและลาว ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นที่รู้จักมากมาย โดยเฉพาะมหากาพย์แห่งอุษาคเนย์เรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง ผลงานการแต่งกลอนลำทำให้บรรดาหมอลำมีชื่อเสียงมากมาย แต่งตำรา เรื่องพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ผลงานการเรียบเรียงแบบแต่งกลอนไทเวียงจันทน์อันเป็นฉันทลักษณ์คำประพันธ์ลุ่มน้ำโขงที่สืบทอดจากยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพจนานุกรมอีกด้วย ถือได้ว่าท่านเป็นปราชญ์ที่รอบรู้ รู้ลึก และชอบศึกษาค้นคว้าเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้ปราชญ์รุ่นต่อ ๆ มาต้องไม่ผ่านเลยที่จะต้องศึกษาและอ้างอิงผลงานของท่านอยู่เสมอ

นายสิลา วีระวงส์ เป็นปราชญ์แห่งสองฝั่งลุ่มน้ำโขงอย่างแท้จริง กำเนิดเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๘ เป็นลูกชาวนาบ้านหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด อายุได้ ๑๔ ปี บรรพชาเป็นสามเณรเนื่องจากบิดาเสียชีวิต สนใจศึกษาเล่าเรียนมากทั้งหนังสือธรรม ขอม ไทย ไทยน้อย และอักษรโบราณ แล้วย้ายไปจำพรรษาในวัดตัวเมืองร้อยเอ็ด ได้รับความเมตตาอุปถัมภ์จากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และได้เดินทางไปศึกษาปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ จนได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค จึงกลับมาเป็นครูสอนภาษาบาลีที่เมืองร้อยเอ็ด พอสืบรู้รากเหง้าว่าสืบเชื้อสายมาจาก พระยาเมืองปาก อันเป็นปู่ทวดแห่งนครจำปาสัก ปี ๒๔๗๓ จึงเดินทางไปจำพรรษาที่กรุงเวียงจันทน์ และต่อมาลาสิกขามีครอบครัวอยู่ที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนั้น เข้าทำงานเป็นเสมียนหอสมุดแห่งชาติ และสอนที่โรงเรียนปาลี วัดสีสะเกด ต่อมาย้ายไปสอนที่โรงเรียนช่างศิลป์ วัดจัน ในทางการเมืองได้เข้าร่วมกับขบวนการลาวอิสระ ของเจ้าอุปราชเพชรราช เมื่อเกิดข้อพิพาททางการเมืองกับฝรั่งเศส จึงต้องข้ามแม่น้ำโขงมาลี้ภัยในประเทศไทย และได้ทำงานในหอสมุดแห่งชาติ แผนกวรรณคดีภาคเหนือและอีสาน ได้ค้นพบวรรณคดีเก่าแก่มากมายจึงได้ปริวรรตถ่ายทอดออกมาเผยแพร่มากมายซึ่งรวมทั้งเรื่องมหากาพย์ท้าวฮุ่งท้าวเจือง ปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ ลาวได้รับเอกราชจึงกลับไปทำงานในประเทศลาว ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองวรรณคดี และปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ เกษียณอายุราชการ แต่ยังได้รับเชิญรับราชการในอัตราจ้างพิเศษของกระทรวงธรรมการ และแม้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปลายปี พุทธศักราช ๒๕๑๘ ก็ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงศึกษาและกีฬา และที่ปรึกษาสถาบันค้นคว้าวิทยาศาสตร์สังคมจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๐ เวลา ๑๖.๐๐ น. ท่านถึงแก่กรรม ที่บ้านนาคำท่ง เวียงจันทน์ สิริอายุรวม ๘๒ ปี

นายสิลา วีระวงส์ เป็นนักปราชญ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขงที่มีบทบาทในการสร้างภูมิปัญญาจากรากหญ้าจนถึงสภาหินอ่อน คุณูปการแห่งการอนุรักษ์และการปฏิบัติให้เห็นประจักษ์ของภูมิปัญญาโบราณดั้งเดิม อธิบาย สืบทอด ได้วางรากฐานการสืบต่อรากเหง้า เป็นแบบอย่างในการเป็นนักเรียนรู้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต เป็นนักปราชญ์ที่อยู่ในความทรงจำตลอดไป เพื่อให้สังคมได้สืบต่อยอดไปได้อย่างต่อเนื่องอย่าง สง่างาม และสมดุล แห่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นายสิลา วีระวงส์ จึงสมควรได้รับการเชิดชูเกียรติยกย่องเป็นอมรศิลปินมรดกอีสาน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป