ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

พุทธศิลป์ในภาคอีสาน

สถาปัตยกรรมอีสาน

สิมอีสาน  Sim I – San (Northeast Buddhist Holy Temple)
“สิม” มีความหมายเช่นเดียวกับ “โบสถ์” หรือ “อุโบสถ” กร่อนเสียงมาจากคำว่า “สีมา” ซึ่งหมายถึงขอบเขตหรืออาณาเขต ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมของสงฆ์ซึ่งต้องทำในสิม ทำนอกสิมไม่ได้
สิมมี 3 ประเภท  สิมที่ทำในบ้านเรียก “คามสีมา” สิมที่ทำในป่าเรียก “อพัทธสีมา” ถ้าผูกแล้วเรียก “พัทธสีมา” ส่วน “วิสุงคามสีมา” นั้นคือ “คามสีมา” ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกที่ดินที่จะสร้างสิมให้  แต่สีมาจะเป็นชนิดใดก็ตาม หากยังไม่ได้ผูกก็ยังไม่มั่นคงถาวร  เพราะผู้ให้อาจจะเพิกถอนเมื่อใดก็ได้  ท่านว่าถ้าได้ผูกแล้ว รากสิมจะหยั่งลงไปถึงน้ำหนุนแผ่นดิน ดังนั้นเมื่อมีการสร้างสิมแล้วจึงนิยมผูกสีมาทุกคราไป
รูปแบบของสิมในภาคอีสานนั้น  ส่วนใหญ่ปรากฏให้เห็นอยู่ 2 ชนิด  คือ “คามสีมา” หรือที่ชาวอีสานมักเรียกว่า  “สิมบก” และ “อุทกกะเขปะสีมา” ที่เรียกว่า “สิมน้ำ”
สิมน้ำหรืออุทกกะเขปะสีมา ในอีสานมีน้อยมาก  สร้างขึ้นเพราะความจำเป็นเร่งด่วนในการประกอบสังฆกรรมซึ่งไม่มีวัดหรือมีเพียงสำนักสงฆ์ที่ยังขาด “สิม” อันได้ผูกพัทธสีมาถูกต้องตามพระวินัย
รากฐานของสิมน้ำในระยะแรกมักใช้เรือหรือแพผูกมัดเข้าหากัน  แล้วปูพื้นกระดานทำเป็นโรงเรือนแบบง่ายๆ  มิได้คำนึงถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อความสวยงามแต่ประการใด  สิมน้ำนิยมทำแพร่หลายในช่วงเผยแพร่พุทธศาสนาธรรมยุตติกนิกาย  ในสมัยของท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  ท่านพระอาจารย์เสาร์  กันตสีโล  และท่านพระอาจารย์สิงห์  ขัตยาคโม

 

สิมบกหรือคามสีมา     
“สิมบกหรือคามสีมา”  เป็นผลงานของสถาปนิกพื้นบ้านอีสานอย่างแท้จริง บ่งบอกถึงภูมิปัญญาช่างพื้นบ้านแบบดั้งเดิม  ที่สั่งสอน แก้ไข  ดัดแปลง  สืบต่อกันมา  แม้ขนาดจะไม่ใหญ่โตอลังการเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น  แต่ก็เป็นสัจธรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนบนถิ่นนั้นๆ ผลงานของช่างต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมตลอดถึงการลอกเลียนรูปแบบจากช่างเมืองหลวง  จนก่อให้เกิดรูปแบบสิมบก มีลักษณะใหญ่ๆ 4 ลักษณะดังนี้

  1. สิมอีสานพื้นบ้านบริสุทธิ์
  2. สิมอีสานพื้นบ้านประยุกต์โดยช่างพื้นบ้าน(รุ่นหลัง)
  3. สิมอีสานพื้นบ้านผสมเมืองหลวง
  4. สิมอีสานที่ลอกเลียนเมืองหลวง

หากจะแบ่งตามลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิมบกสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด  คือ

  1. ชนิดโปร่งหรือสิมโถง  ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น  สิมโปร่งพื้นบ้านบริสุทธิ์  มีทั้งแบบไม่มีเสารับปีกนก และแบบมีเสารับปีกนก
  2. ชนิดสิมทึบ  ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น

สิมพื้นบ้านบริสุทธิ์  สร้างด้วยไม้และอิฐถือปูน  ซึ่งแบบอิฐถือปูนมีทั้งแบบมีและไม่มีเสารับปีกนก
สิมพื้นบ้านประยุกต์โดยช่างพื้นบ้าน(รุ่นหลัง)  มีทั้งแบบใช้ช่างพื้นบ้านไท-อีสาน และญวน หรือได้รับอิทธิพลจากช่างญวน  โดยจำแนกได้เป็นแบบ  ไม่มีมุขหน้า  แบบมีมุขหน้า  แบบมีมุขหน้าและมุขหลัง  และแบบมีระเบียงรอบ
สิมทึบพื้นบ้านผสมเมืองหลวง
สิมทึบที่ลอกเลียนเมืองหลวง

 

สิมน้ำ  Sim Nam (Water Sim)
ข้อบัญญัติตามพระวินัยปิฎกกล่าวไว้ว่า  น่านน้ำที่สงฆ์จะกำหนดเป็นอุทกกะเขปะได้มี 3 ประการคือ

  1. นที  แม่น้ำ
  2. สมุทร  ทะเล
  3. ชาตสระ  ที่ขังน้ำอันเกิดเอง

การทำสังฆกรรมในน่านน้ำ  3 ชนิด  จะทำบนเรือหรือบนแพที่ผูกกับหลักในน้ำหรือทอดสมอก็ได้  ให้ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ประมาณ  3 วา) ท่านห้ามไม่ให้ทำในเรือหรือแพที่กำลังลอยลำเดินทาง  จะทำบนร้านที่ปลูกขึ้นในน้ำ  ท่านว่าได้
ดังนั้น “ร้านที่ปลูกขึ้นในน้ำ” จึงเป็นมูลเหตุมาเป็น สิมน้ำ  ประเภทถาวรขึ้น  สามารถใช้สอยได้ในระยะเวลานานพอสมควร  แม้จะไม่มีความคงทนนักปัจจุบัน  สิมน้ำ  ในภาคอีสานได้สูญหายไปจนเกือบหาดูไม่ได้แล้ว

ส่วนประกอบตกแต่งสิม  Decoration of Sim
“สิมอีสาน”  นอกจากจะมีรูปแบบที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานแล้ว  ยังมีรายละเอียดของการตกแต่งอีกหลายประการที่ทำให้ตัวสิมมีความงามเพิ่มมากยิ่งขึ้น  เราอาจแยกสิมออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนบน  คือ  ส่วนของหลังคาทั้งหมด  จะมีส่วนประดับตกแต่งเช่น  ช่อฟ้า  โหง่  ลำยอง  หางหงส์  เชิงชาย  และสีหน้า เป็นต้น
ส่วนกลาง  คือ ตัวสิม หากเป็น  สิมโปร่ง  จะไม่ใคร่มีการตกแต่งมากเท่าสิมทึบ  ซึ่งในส่วนนี้จะก่ออิฐฉาบปูนเป็นส่วนใหญ่  มีส่วนประกอบตกแต่ง  เช่น ประตู  หน้าต่าง  คันทวย  ฮังผึ้ง  และบางแห่งอาจมีฮูปแต้มทั้งภายนอกและภายในตลอดถึงฐานชุกชีพระประธานก็ถือว่าเป็นงานตกแต่งที่อยู่ในส่วนนี้
ส่วนฐาน  คือ  ส่วนของแอวขัน  ที่ก่ออิฐฉาบปูนทำเป้น โบกคว่ำ-โบกหงาย  และมีท้องกระดานกระดูกรูปงูตามรสชาติงานของช่างอีสาน  ซึ่งมีการวางจังหวะและสัดส่วนแผกไปจากช่างจากภาคอื่น  นอกจากนั้นก็มีปูนปั้นเป็นรูปสัตว์เฝ้าบันได  อาทิเช่น  จระเข้เหรา  สิงห์  และตัวมอม  เป็นต้น

 

รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้

ช่อฟ้า  นับเป็นส่วนที่สูงที่สุดของสิม  มักแกะสลักด้วยไม้เป็นลักษณะคล้ายปราสาท(ผาสาด)
หรือฉัตรตั้งลดหลั่นซ้อนกันขึ้นไปบนสันหลังคาตรงส่วนกลางของหลังคาสิม  นับเป็นส่วนสำคัญที่ชี้บอกถึงความเป็นอีสาน
ปัจจุบันยังพอมีสิมที่ก่อสร้างใหม่บางหลังที่ยังคงเอกลักษณ์ของ “ช่อฟ้า” ส่วนนี้ไว้แม้จะทำเป็นคอนกรีตไปแล้วก็ตาม

โหง่ หรือที่ภาคกลางเรียกว่า  “ช่อฟ้า”  ตัวนี้นั้น  นับเป็นส่วนสำคัญของการตกแต่ง สิมอีสาน ที่ขาดไม่ได้
เพราะจะทำให้หลังคาขาดด้วนไปอย่างเห็นได้ชัด  ช่างได้ออกแบบโหง่  ให้มีรูปแบบที่เป็นพื้นถิ่นอย่างมีคุณค่า
จะไม่มีแบบสูตรสำเร็จเหมือนภาคกลาง  โหง่  ของเดิมจะสร้างด้วยไม้ทั้งสิ้น

ลำยอง  เป็นส่วนที่เรียกว่า  “นาคสะดุ้ง” แต่สิมอีสานมักนิยมทำเรียบเป็นแบบ  “แป้นลม” ของเรือนพักอาศัย
หลายแห่งแกะสลักเป็นลำตัวนาคเกี่ยวหางต่อหัวกันอย่างสนุกสนาน  ข้างละไม่ต่ำกว่า ๓-๕ ตัว
ส่อให้เห็นถึงความเป็นอิสระในการออกแบบของช่างอย่างเต็มที่

หางหงส์  สลักเป็นหัวพญานาคบ้างเป็นลายก้านดก (กนกหัวม้วน) บ้าง แล้วแต่ช่างจะคิดประดิษฐ์เอา

เชิงชาย  บางแห่งก็แกะสลักเป็นลายเครือเถา  บางแห่งก็ฉลุไม้เป็นลวดลายคล้ายอุบะย้อยต่อเนื่อง  แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใคร่ตกแต่งในส่วนนี้

หน้าบัน หรือ “สีหน้า”  ของสิมอีสาน  นิยมทำเป็นลายตาเวน  หรือเป็นดวงตะวันส่องแสงเป็นรัศมีติดกระจกประดับ
ประดุจความสว่างไสวสดใสชัชวาลแห่งดวงประทีป  คือปัญญาของผู้ใฝ่ใจในพระธรรมขององค์พระสัมมาพุทธเจ้า

ส่วนกลาง

ประตู ส่วนใหญ่จะมีประตูเดียว  บางแห่งก็สลักลวดลาย  มักเป็นลายเครือเถาตามแบบช่างพื้นบ้าน  จะดูหยาบแต่ก็ให้ความเป็นเอกลักษณ์ของอีสานได้ดีทีเดียว

หน้าต่าง มักเจาะผนัง ๔ เหลี่ยมใส่บานหน้าต่างไม้ขนาดไม่ใหญ่นักอาจมีบานพับคู่และบานพับเดี่ยวไม่ใคร่ทำซุ่มประดับหน้าต่าง  จะทำบ้างก็เป็นซุ้มประตูเสียส่วนใหญ่  โดยเฉพาะเมื่อนิยมก่ออิฐปั้นปูนช่างญวนจะนิยมทำซุ่มประตูแบบอาร์คโค้งใส่ลงไปในสิมอีสาน  แถมให้ด้วย

แขนนาง หรือ คันทวย  ส่วนนี้เป็นลักษณะพิเศษของสิมอีสานที่ไม่เหมือนใคร  จะมีทั้งทวยนาคและทวยแผงคือเป็นแผงแผ่นไม้ขนาดค่อนข้างใหญ่  แกะสลักลายนูนต่ำทั้ง ๒ ด้าน  การประดับของคันทวยนี้ด้านล่างจะมีเต้าไม้ยื่นออกมารับจากผนังแล้วจะเอนหัวออกเล็กน้อยขึ้นไปยึดกับไม้ด้านบน  ซึ่งเป็นไม้ขื่อรับปีกนกยันเชิงชาย  จะเห็นได้ว่าแปลกกว่าของทางภาคอื่น

ฮังผึ้ง หรือ “รวงผึ้ง”  ของทางภาคกลาง  หรือ “โก่งคิ้ว” ของทางภาคเหนือ  มีลักษณะเด่นมากของงานตกแต่งด้านหน้าของสิมอีสาน ซึ่งมักจะแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ช่วงเสา ๔ ต้น  ช่วงเสากลางเป็นหน้าบันของจั่วใหญ่  ตรงกับบันไดทางขึ้น  ฮังผึ้งจะอยู่สูงกว่าปกติ  ส่วนในช่วงเสาอีกสองข้างนั้นเป็นบันไดปีกนก  จะมีฮังผึ้งต่ำลงมา  มีการแกะสลักลวดลายวิจิตรประณีต  ทำให้สิมอีสานดุอลังการขึ้นเป็นพิเศษ  บางหลังด้านหน้ามีเพียงช่วงเสาเดียว  ตัวฮังผึ้งจะยาวตลอดและยังคงทำเลียนแบบคล้ายอย่างแรกเช่นกัน

ส่วนฐาน

แอวขัน มีลักษณะพิเศษ  สิมบางหลังมีแอวขันสูงท่วมหัว  การก่ออิฐทำเป็นโบกคว่ำ-โบกหงาย มักจะสูงชันกว่าของภาคกลาง  ส่วนท้องกระดานนิยมทำเป้นกระดูกงูโปนออกมาแก้ความเรียบของตัวท้องกระดาน
ส่วนลวดบัวนั้นก็มีคล้ายๆ กันโดยทั่วไป ส่วนใหญ่นิยมทำเป็นลักษณะแอวขันปากพาน คือ  ทำเลียนรูปพานหรือโตกใส่ข้าวของต่างๆ  ในพิธีกรรมพื้นบ้านนั้นเอง

ชุกชี  ส่วนแท่นประดิษฐานพระประธานภายในสิม  ช่างไท-อีสาน นิยมก่ออิฐถือปูนมีรูปแบบฐานแอวขันปากพาน  สัดส่วนของการลดเหลี่ยม,โบกคว่ำ, โบกหงาย  และท้องกระดานนั้นทำตามรสชาติงานช่างแบบพื้นเมือง  ซึ่งให้คุณค่าจนเกิดเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว

บันได  มักมีบันไดทางขึ้นเพียงด้านเดียว  นิยมทำปูนปั้นเป็นรูปสัตว์เฝ้าบันได  เช่น เป็นตัวจระเข้นอนราบเอาหัวลงล่างเอาหางอยู่บน  บางแห่งเป็นรูปจระเข้เหราอ้าปากคาบสิงห์  บางแห่งก็เป็นตัวสัตว์คล้ายมอม ที่คนสมัยก่อนใช้สักไว้ตามขา (เฉพาะผู้ชาย) เป็นต้น