ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

ป่วน เจียวทอง (หัตกรรมพื้นบ้านเครื่องเงินโบราณ)

ป่วน เจียวทอง

นายป่วน เจียวทอง อายุ 68 ปี เกิดเมื่อวันที่ 1 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2484 ที่บ้านโชค อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเขวา และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์เมื่อพุทธศักราช 2548

นายป่วน เจียวทอง เริ่มฝึกทำเครื่องทองรูปพรรณตั้งแต่อายุ13 ปี จากพี่เขยและเริ่มเรียนรู้ที่จะประยุกต์การทำเครื่องทองมาเป็นเครื่องเงิน โดยยึดแบบโบราณและวิธีการทำแบบดั้งเดิมของหมู่บ้านโชคที่สืบต่อมาแต่โบราณ ฝีมือการทำ “ประเกื๊อม” หรือ“ประคำ” ที่ทำจากฝีมือของป่วน เจียวทองนี้ มีลวดลายวิจิตรบรรจง แสดงให้เห็นถึงความละเอียด ความประณีตและความอุตสาหะของผู้ทำอย่างเห็นได้ชัดผลงานภาคภูมิใจที่สุดคือ เข็มขัดเงินที่ทำขึ้นพิเศษมีลวดลายไม่ซ้ำกันถึง 20 ลวดลายในเส้นเดียว ซึ่งทำไว้ 2 เส้นเพื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระองค์ได้พระราชคืนเก็บไว้ 1 เส้น เพื่อให้เป็นมรดกแผ่นดินและให้ผู้ที่สนใจศึกษาต่อไป

นายป่วน เจียวทอง เป็นผู้มีความมุ่งมั่นในการสร้างงานหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยรักษารูปลักษณ์ดั่งเดิมไว้ได้อย่างสวยงามและสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน จนได้รับรางวัล “คนดีศรีเมืองช้างจังหวัดสุรินทร์” จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ รวมถึงรางวัล “ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสุรินทร์” ด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์การทำเครื่องเงินโบราณให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยการเป็นวิทยากรฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นโครงการพัฒนาความรู้แบะทักษะการเป็นช่างเครื่องเงินของจังหวัดสุรินทร์ มาโดยตลอดและได้เข้าร่วมสาธิตและแสดงผลงานในงานเทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้านของสถาบันสมิธโซเนียน “เรื่องแม่น้ำโขง” : เชื่อมสายใยวัฒนธรรม“ณ กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับรางวัลบุคคลผู้ทำประโยชน์แก่กระทรวงแรงงานจากกระทรวงแรงงานใน พ.ศ.2551

นายป่วน เจียมทอง จึงได้รับได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสานสาขาทัศนศิลป์ ประเภทหัตถกรรมพื้นบ้าน (เครื่องเงินโบราณ) ประจำปีพุทธศักราช 2552จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น