ปราโมทย์ ในจิต
นายปราโมทย์ ในจิต หรือนามปากกาที่ใช้แปลวรรณกรรมว่า จินตรัย โดยใช้นามปากกานี้ในการแปลวรรณกรรม และ งานเขียนของนักเขียนจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2497 โดยเป็นชาวอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาบริการการศึกษาในปีพุทธศักราช 2526 จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ผ่านมาสนใจการอ่าน การเขียนมากมาย และมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.1520 -ปัจจุบัน มีผลงานบทกวี,เรื่องสั้น,บทความ และอื่นๆ ตีพิมพ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เช่น หนุ่มสาว,แมน,ลลนา,เศรษฐกิจรายสัปดาห์,นะคะ,ชีวิตต้องสู้,คุรุปริทัศน์,สยามรัฐรายวัน,สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์,มติชนสุดสัปดาห์,ข่าวพิเศษ,โลกหนังสือ,ศิลปะวัฒนธรรม,ช่อการะเกด,กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์ภาควรรณกรรม,เนชั่นสัปดาห์,อีสานไรเตอร์,วิทยาจารย์,ฯลฯ และยังมีผลงานรวมเรื่องสั้นชื่อ “ถิ่นเถื่อน” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บางหลวง ในปี พ.ศ.2533 นอกจากนั้นยังสนใจและศึกษางานเขียนของนักเขียนลาว และนำมาจัดแปล พร้อมกับจัดพิมพ์เล่มแรก ในปี พ.ศ.2534 เป็นรวมเรื่องสั้นแปลลาว ชื่อ“กระดูกอเมริกัน” เขียนโดย บุนทะนอง ซมไซผน ในนามปากกาจนตรัย จากนั้นในปี พ.ศ.2535 มีผลงานรวมเรื่องสั้นแปลลาวชื่อ“ควายโดยสาร” ของไชสุวัน แพงพง และ “เมื่อแม่จากไป” ของอุทิน บุนยางวง ใช้นามปากกา จินตรัย ปี พ.ศ.2534-2535 แปลนวนิยายเรื่องยาว “ลงสู่ถนนล้านช้าง” ของบุนทะนอง ซมไซผนในนิตยสารนะคะ
จากนั้นในปี พ.ศ.2539-2540 แปลนวนิยายเรื่องยาว “นกสิบฝน” ของไซสุวัน แพงพง ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปี พ.ศ.2535 ปริวรร6 “แบบแสดงกลอนไทยเวียงจันทร์ และกาพย์วิสาสินี” ใช้ชื่อจริงในการแปล ปี พ.ศ. 2549 แปลมหากาพย์แห่งอุศาคเนย์เป็นภาษาไทย “เท้าหุ่ง เท้าเจือง” ฉบับร้อยแก้วใช้ชื่อจริงในการแปล ปี พ.ศ.2551 แปลเรื่องสั้นลาวร่วมสมีย 10 เรื่อง และรวมเขียน 1 เรื่อง ในชุด “สองฟากฝั่งของแม่น้ำ” ในโครงการสานสัมพันธ์ไทยลาว “วรรณกรรมดนตรีกวีศิลป์สองฝั่งโขง” ปี พ.ศ.2552 แปลเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ของประเทศลาว ปี พ.ศ.2008 เรื่อง “ซิ่นไหมผืนเก่าๆ” ของฮุ่งอรุณ แดนวิไล ที่ผ่านมานอกจากนามปากกา จินตรัย ที่ใช้แปลวรรณกรรมลาวแล้วยังมีนามปากกาอื่นๆที่ใช้เขียนผลงานอีก ไม่ว่าจะเป็น แมงย่างซี่น คนดิบ คีตัสจรรย์ และปราโมช ปราโมทย์ อีกด้วย
นายปราโมทย์ ในจิต จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาชาวรรณศิลป์ (วรรณกรรมแปล) ประจำปีพุทธศักราช 2555 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป