ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

ประยงค์ ชื่นเย็น (เรียบเรียงเสียงประสาน)

ประยงค์ ชื่นเย็น

ประยงค์ ชื่นเย็น เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช๒๔๘๙ ที่จังหวัดพระตะบอง (ในยุคที่ยังเป็นของประเทศไทย) บิดา-มารดาชื่อ ประยูร – ลับ ชื่นเย็น สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนการช่างบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์(ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์) เข้าสู่วงการเพลงโดยเป็นนักดนตรีตำแหน่งทรัมเป็ต ของ วงรวมดาวกระจาย ต่อมาจึงอยู่กับ วงดนตรีสุรพัฒน์ ของ ชลธี ธารทอง วงดนตรีของ ผ่องศรี วรนุช และ เพลิน พรหมแดน ตามลำดับ

ประยงค์ เริ่มทำงานด้านการเรียบเรียงเสียงประสาน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๖ โดยเป็นผู้เรียบเรียงเพลงทุกรูปแบบ และควบคุมการบรรเลงเพลงให้กับวงดนตรีไทยลูกทุ่งและไทยสากล ผลงานบันทึกเสียงเพลงแรกในฐานะผู้เรียบเรียงเสียงประสาน คือเพลง “ทนหนาวอีกปี” ขับร้องโดย เด่น บุรีรัมย์ ต่อมาได้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงมากมายนับพันเพลง บทเพลงที่สร้างชื่อเสียงได้แก่ เพลงของ ยอดรัก สลักใจ เช่น “จดหมายจากแนวหน้า” “ทหารเรือมาแล้ว” “อเวจีใจ” เพลง “หนุ่มนารอนาง” ของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพลง “อกหักซ้ำสอง” ของ สายัณห์ สัญญา เพลง “เทพธิดาผ้าซิ่น” ของ เสรี รุ่งสว่างเพลง อีสาวทรานซิสเตอร์ ของ “อ้อยทิพย์ ปัญญาธรณ์” เพลง “ท้ารัก” ของ บุษบา อธิษฐาน เพลง “รักจริงให้ติงนัง” ของ รุ่ง สุริยา เพลง “ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก” ของ ธานินทร์ อินทรเทพ เพลง “ส่วนเกิน” ของ ดาวใจ ไพจิตร รวมถึงเพลงของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เช่น“หัวใจถวายวัด” “ผู้ชายในฝัน” “ห่างหน่อยถอยนิด” เป็นต้น เพลงที่เรียบเรียงเสียงประสานที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมสูงสุดของวงการ นอกจากนี้ยังมีผลงานสร้างสรรค์อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพลงที่รู้จักกันดีคือ เพลง “ส้มตำ” ฉบับที่ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์ และ สุนารี ราชสีมา

ประยงค์ ชื่นเย็น ยังเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการเพลงลูกทุ่ง โดยการผสมผสานสร้างสรรค์ระหว่างดนตรีพื้นบ้านของไทยกับดนตรีตะวันตกได้อย่างยอดเยี่ยม และได้ริเริ่มนำเครื่องดนตรีไทยหลายชนิดมาบรรเลงผสมกับเครื่องดนตรีสากล จนเป็นเอกลักษณ์ของเพลงลูกทุ่ง ประยงค์ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย เช่น รางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากการเรียบเรียงเสียงประสาน เพลง “แม่ยก” “อาลัยนักรบ” และ “หนุ่มนารอนาง” รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง จากเพลง “อีสาวทรานซิสเตอร์” “ข้อยเว้าแม่นบ่” ประเภทเพลงไทยสากล จากเพลง “ปั้นดินให้เป็นดาว” เป็นต้น และพุทธศักราช ๒๕๕๒ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติสูงสุดเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง ประเภทผู้เรียบเรียงเสียงประสาน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ปัจจุบัน ประยงค์ ชื่นเย็น ทำงานประพันธ์เพลง เป็นนักเรียบเรียงเสียงประสานอิสระ ประเภทบทเพลงไทยลูกทุ่ง-เพลงไทยสากล เป็นผู้ควบคุมการบรรเลงวงดนตรีไทยลูกทุ่งและไทยสากล นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการเรียบเรียงเสียงประสาน การประพันธ์เพลงและทฤษฎีดนตรีสากล ประจำสาขาวิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และยังเป็นกรรมการตัดสินทางด้านดนตรีและการขับร้องรายการต่าง ๆ

ผลงานการเรียบเรียงเสียงประสานเพลงลูกทุ่งและไทยสากลมาต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับในระดับชาติดังที่ปรากฏ ประยงค์ ชื่นเย็น จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (เรียบเรียงเสียงประสาน) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป