ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บุญสม สังข์สุข (บุญสม กำปัง) (เพลงโคราช)

บุญสม สังข์สุข

นายบุญสม สังข์สุข (บุญสม กำปัง) เกิดเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคมพุทธศักราช ๒๕๐๔ ณ บ้านกำปัง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา

นายบุญสม สังข์สุข สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เมื่อปี ๒๕๕๕ และได้รับปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อปี ๒๕๕๕ ด้วยฐานะทางบ้านของนายบุญสมยากจนจึงต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นลูกจ้างทำนา ในระหว่างนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากพี่ชายซึ่งรับงานแสดงเพลงโคราชตามสถานที่ต่างๆ จึงเริ่มฝึกหัดเพลงโคราชตอนกลางคืนกับ ปู่สี ย่าเงิน ที่บ้านกำปัง ควบคู่กันไปกับการทำนาในตอนกลางวัน นายบุญสมได้ต่อเพลงกับครูสีแบบปากต่อปาก คืนละ ๑ กลอน ฝึกการเอื้อนทำนอง การออกเสียงคำควบกล้ำ ฝึกพรรณนาสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อนำมาว่าเพลงเล่นคำได้สละสลวย ผสานด้วยมุกตลกและแฝงคติสอนใจได้อย่างลงตัว หลังจากนายบุญสมปลดประจำการจากราชการทหาร ได้ยึดอาชีพหมอเพลงโคราช เพื่อหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริตมาจนถึงปัจจุบัน ร่วมกับการส่งเสริมหมอเพลงอาชีพ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้หมอเพลงเกิดความภาคภูมิและดำรงตนอย่างมีศักดิ์ศรี

ผลงานที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของบุญสม สังข์สุข คือ การผสานดนตรีพื้นเมืองอีสานประกอบการแสดง เช่น แคน โหวด หรือเครื่องประกอบจังหวะ เป็นช่วง ๆ นอกจากนั้นยังแสดงร่วมกันระหว่างเพลงพื้นบ้านอีสานกับเพลงโคราช สิ่งที่นายบุญสมได้ทุ่มเทตลอดทั้งชีวิตการเป็นหมอเพลงคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเพลงโคราชตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ดังปรากฏเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ภาคภูมิใจและมีส่วนช่วยสืบสานเพลงโคราชคือ นายบุญสมได้เป็นแกนกลางร่วมกับสมาชิกสมาคมเพลงโคราชจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นรายวิชาเพลงโคราช ทั้งในระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ เพลงโคราชและการอนุรักษ์ภูมิปัญญาภาษาถิ่นจัดทำคู่มือภาษาโคราชและเพลงโคราชคู่ นอกจากนั้นยังได้จัดทำแบบฝึกทักษะ และประเมินการฝึกทักษะตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนกระทั่งสามารถสร้าง “หมอเพลงน้อย” ซึ่งเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาและความเสียสละของนายบุญสม ให้สามารถแสดงบนเวทีจริงร่วมกับหมอเพลงรุ่นใหญ่ที่กำลังวางมือ โครงการดังกล่าวสอดรับกับแนวคิดของนายบุญสมได้กล่าวไว้ในกลอนวัฒนธรรมว่า “ใครก็ไม่เหลียวมาดูเลยทั้งดูเต้ยดูลำ เรื่องของวัฒนธรรมต้องกอบกู้ดูแล กู้ดูแล อย่าให้เหมือนกะหว้าเหว่ เมื่อถึงฤดู…หล่น”

ผลงานสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นายบุญสมนำเพลงโคราชมาใช้ในฐานะสื่อพื้นบ้าน เพื่อเชื่อมประสานความเข้าใจอันดีระหว่างภาครัฐกับประชาชนตามโครงการต่าง ๆ อาทิ “พระเนตรประดุจดั่งดวงดาว ที่ส่องสกาวดวงเด่น พระหทัยอันฉ่ำเย็น แผ่กว้างเหมือนดวงเดือน กว้างเหมือนดวงเดือน แสงสว่างกว่าดวงใด พระองค์เป็นศูนย์รวมใจ คนไทยทุกดวง…เดอ” กลอนเพลงโคราชเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ๘๔ พรรษา “จะเลือกคนเก่าคนใหม่พวกเราอย่าได้คิดประมาท ไอ้พวกประสงค์โกงชาติมันหวังเขมือบแต่งบประมาณ” กลอนเชิญชวนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “ธุรกิจน้ำเมา มันผลาญเผา ยิ่งกว่าน้ำมัน ครันจะปิดโรงงาน เหล้านอกก็มีนำมาถ้าคนไม่กินก็ขายไม่ได้ เรามาตั้งใจนำกันละ คนกินตายคนขายรวยก็รู้กัน…แล้ว” กลอนสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายบุญสม สังข์สุข ได้จัดทำหลักสูตรเพื่อสร้างหมอเพลงน้อยทั้งแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์ ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักเพลงประจำถิ่นของตน ธำรงรักษาสมบัติของคนโคราชและสมบัติของประเทศ ดังคำกลอนที่ว่า “เพลงลำตัดให้อยู่ภาคกลาง ลิเกนั้นดังในเมืองกรุง ส่วนเพลงโคราชนั้นมารุ่ง มีชื่อเสียงในเมืองไกล” นายบุญสม สังข์สุข (บุญสม กำปัง) จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสานสาขาศิลปะการแสดง (เพลงโคราช) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป