ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

ทองแปน พันบุปผา (หมอลำกลอน)

ทองแปน พันบุปผา

นางทองแปน พันบุปผา หรือชื่อในการแสดงว่า “หมอลำทองแปน พันบุปผา” เกิดเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ที่บ้านโพธิ์สง่า ตำบลเมืองเดช (ในสมัยนั้น) อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านท่าโพธิ์ศรี ตำบลเมืองเดช (ในสมัยนั้น) อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

นางทองแปน พันบุปผา เริ่มต้นชีวิตหมอลำหลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้ไปเรียนลำกลอนกับบิดา ซึ่งเป็นหมอลำกลอนอยู่แล้ว ด้วยความเฉลียวฉลาด มีความจำเป็นเลิศ มีความขยัน อดทน พร้อมกับมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนรู้ ภายในเวลา ๓ ปี จึงทำให้นางทองแปนแตกฉานในเรื่องกลอนลำ จึงได้ออกรับงานแสดง โดยใช้ชื่อในการแสดงสมัยนั้นว่า “หมอลำปรานี พันบุปผา” ซึ่งมีบิดาเป็นครูสอนและคอยเป็นพี่เลี้ยงแนะนำอย่างใกล้ชิด ต่อมาในปี พุทธศักราช ๒๕๓๑ ได้เปลี่ยนชื่อในการแสดงมาเป็น “หมอลำทองแปน พันบุปผา” ทำให้เป็นที่รู้จักและยอมรับจากแฟนหมอลำตลอดมา

นางทองแปน พันบุปผา เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการประพันธ์กลอนลำ และการแสดงหมอลำกลอน ถือเป็นผู้คิดค้นหมอลำกลอนประยุกต์คนแรกแห่งวงการหมอลำกลอนก็ว่าได้ เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์การลำให้ทันสมัยในยุคปัจจุบันที่มีความเป็นพลวัต โดยได้ผลิตผลงานด้านการลำออกเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ สู่สายตาประชาชนมากมาย อาทิ ชุดหมอลำชิงชู้ ลำประยุกต์ชุดรักข้ามรุ่น ลำล่องชุดลูกทรพี ลำเพลินชุดมโนราห์เล่นน้ำ ลำพื้นตำนานรักชุดผาแดงนางไอ่ และมีผลงานการลำร่วมกับหมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหมอลำ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ อาทิ ลำล่องชุด หมู่บ้านศีลห้า ลำล่องชุดพ่อกับแม่คือตู้เอทีเอ็ม นอกจากนี้ยังได้ผสานเอาวัฒนธรรมอีสานเข้าไปในกลอนลำและการลำ ใช้การลำเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้ด้านต่าง ๆ อาทิ คุณธรรม จริยธรรม พระพุทธศาสนา เศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลังได้ซึมซาบเอาคติเหล่านี้ไปใช้ในวิถีชีวิต เมื่อว่างเว้นจากการรับงานแสดง หมอลำทองแปน ก็ไม่ได้นิ่งเฉย คอยอุทิศตนเพื่อสืบต่อลมหายใจแห่งศิลปะการแสดงหมอลำกลอนอันทรงคุณค่านี้ โดยได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจสั่งสอนศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า หมายมั่นปั้นใจอนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนา มรดกนี้ไว้ตราบนานเท่านาน

ด้วยความสามารถด้านการประพันธ์กลอนลำ และการแสดงหมอลำกลอนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างโดดเด่น ตลอดจนการอุทิศตนเพื่องานสังคมมาโดยตลอดทั้งชีวิตของการเป็นศิลปินหมอลำกลอน นางทองแปน พันบุปผา จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำกลอน) พุทธศักราช ๒๕๖๒ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป