ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

ถอดบทเรียนการเสวนาออนไลน์ครั้งที่ 2 เสวนาออนไลน์ ไขข้อธรรม เจาะวาทกรรมพุทธศาสน์ พุทธแท้ พุทธไทย พุทธเทศ บนวิถีใหม่

วัฒนธรรมวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ สถานการณ์ New Normal ที่เกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด -19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ได้ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปในทุกมิติ โดยเฉพาะช่วงที่มีการประกาศล็อกดาวน์ (Lock Down) ปิดเมือง ผู้คน ประชาชนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ใช้เวลาในการทำกิจกรรมประจำวันในบ้าน เพราะไม่สามารถไปในที่ชุมชนสาธารณะได้ หรือแม้แต่การทำงานยังต้อง Work From Home นำมาซึ่งการปรับตัวของผู้คน และแน่นอนว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบในแง่ของการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเช่นกัน ดังจะเห็นจากบนพื้นที่สื่อ หรือศาสนสถานใกล้บ้าน ต้องงดกิจกรรมทางศาสนา บางวัดไม่มีการบิณฑบาต งดให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่ของวัด หรืออนุญาตเฉพาะการประกอบพิธีสำคัญเช่นงานศพ แต่ต้องมีการตรวจเข้ม จะเห็นได้ว่าโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีปกติไป ในสถานการณ์ปกติแล้ว ความสนใจของผู้คนที่มีต่อพุทธศาสนา การเข้าวัด และรับธรรมะนั้น เรียกได้ว่าลดน้อยลงไป หรือมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เช่นหันไปฟังไลฟ์โค้ช (Life Coach) หรือ สนใจศาสนวัตถุ เครื่องราง เทพเจ้า มากขึ้น แล้วเมื่อมีโควิดเข้ามา ระยะห่างนั้นจะกว้างขึ้นหรือไม่ หรือสถานการณ์การของพุทธศาสนาจะแปรสภาพไปอย่างไร จึงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองและนำมาสู่การเสวนาในหัวข้อ “พุทธแท้ พุทธไทย พุทธเทศ ภายใต้วัฒนธรรมใหม่ (New Normal)”

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00-12.00 น. ที่ผ่านมา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ หลักสูตรวิจัยวัฒนธรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “พุทธแท้ พุทธไทย พุทธเทศ ภายใต้วัฒนธรรมใหม่ (New Normal)” ในโครงการหลัก คือ โครงการแสดงนิทรรศการ และสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านศิลปะ ประจำปีงบประมาณ 2563 (วาดด้วยใจสู้ภัยโควิด) โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักวิชาการ นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมไปถึงในต่างประเทศ โดยเสวนาผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ด้วยแอปพลิเคชัน Zoom 

การเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญ 2 ท่าน คือ ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ และ พระครูพิพิธสุตาทร (พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร-ดูใจ, ดร.) เป็นการเสวนาเกี่ยวกับประเด็นสถานภาพของพุทธศาสนา และบทบาทของพุทธศาสนาต่อสังคมในสถานการณ์ใหม่ ดำเนินการเสวนาโดย  ผศ. ดร.หอมหวล บัวระภา

ก่อนเข้าสู่ประเด็นการเสวนาครั้งนี้ รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ ประธานหลักสูตรวัฒนธรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้เล่าถึงความเป็นมาของการจัดโครงการและเสวนาครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ไม่สามารถจัดเสวนาในรูปแบบของการ On site  จึงต้องจัดเสวนาด้วยรูปแบบ Online เพื่อให้สอดรับกับแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่ต้องการก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ ได้สรุปเนื้อหาจากการเสวนาออนไลน์ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ “สภาวการณ์งานช่างศิลปะกรงเทพฯ งานช่างศิลปะอีสาน” ซึ่งจะเห็นได้ว่าศิลปกรรมนั้นยึดโยงไปกับผู้คนและวัฒนธรรม ซึ่งการเสวนาดังกล่าวนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและเกิดองค์ความรู้มากมายในวงเสวนา ผลตอบรับที่ดีของการจัดเสวนาในครั้งแรก จึงนำมาสู่การเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งประเด็นด้านพุทธศาสนานั้นก็กำลังเป็นที่กล่าวถึงและอยู่ในกระแสสังคมมาโดยตลอด จึงต้องร่วมกันไขข้อสงสัยถึงวาทกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนา

จากนั้น ผศ. ดร.หอมหวล บัวระภา ได้แนะนำประวัติโดยสังเขปของวิทยากร คือ ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านปรัชญาและศาสนา โดยทำงานด้านการศึกษาพระไตรปิฎก พุทธศาสนาดั้งเดิม พุทธศาสนาในพระคัมภีร์ รวมถึงการเป็นคณะกรรมการในการชำระพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดย ศ. ดร.วัชระ งามจิตรเจริญจะบรรยายในประเด็น “พุทธแท้ พุทธไทย” ก่อนจะเป็นการบรรยายในประเด็น “พุทธเทศ” โดย พระครูพิพิธสุตาทร ซึ่งท่านเป็นพระสงฆ์ผู้มีบทบาทด้านพุทธศาสนาระหว่างประเทศ และศาสนสัมพันธ์  

  ศ. ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ได้เริ่มการเสวนาในประเด็นของ “พุทธแท้” ซึ่งคำว่าพุทธแท้ นั้นในด้านวิชาการอาจเรียกได้ว่า พุทธดั้งเดิม หมายถึง พระพุทธศาสนาดั้งเดิม (Early Buddhism)  คือพระพุทธศาสนาโบราณ ดั้งเดิม ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล หรือคำสอนที่ปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก แต่ต่อมาได้พัฒนามาเป็นนิกายเถรวาท ซึ่งปรากฏคำสอนอยู่ในพระอภิธรรมปิฎกและอรรถกถา ฎีกา และแยกเป็นนิกายมหาสังฆิกะซึ่งต่อมาทั้งสองนิกายได้แตกนิกายเป็นกลุ่มเถรวาทและกลุ่มอาจริยวาท ซึ่งอาจมีถึง 18 นิกายหรือมากกว่า จากนั้นก็เกิดการแยกนิกายต่อมา กระทั่งเกิดเป็นนิกายมหายานและวัชรยาน

นิกายต่าง ๆ ในพุทธศาสนานั้นมีมากมาย และต่างต่อยอดมาจากพุทธศาสนาดั้งเดิมทั้งสิ้น หากจะหาคำตอบหรือค้นหาความเป็นพุทธแท้ คำตอบของการเป็น “พุทธแท้” จึงไม่มีคำตอบเดียวและเป็นคำตอบตายตัว เพราะทุกนิกายต่างก็พัฒนามาจากรากเดียวกัน ฉะนั้นพุทธแท้จึงมีหลายรุ่น หลายระดับ มี “ความแท้” ต่างกันไป แท้ที่สุดคือพระพุทธศาสนาดั้งเดิม และที่ใกล้เคียงกับพระพุทธศาสนาดั้งเดิมมากที่สุดคือ พุทธศาสนานิกายเถรวาท เพราะเป็นนิกายเก่าที่สุดและพยายามรักษาวิถีปฏิบัติและขนบเดิมไว้มากที่สุด ซึ่งเป็นนิกายที่มีการเผยแผ่เข้ามาในดินแดนของลังกา ลังกา พม่า ไทยและ ลาว

เมื่อการแผ่ขยายของพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ได้เข้ามาสู่เขตแดนของประเทศไทย ซึ่งมีความเชื่อและข้อปฏิบัติดั้งเดิมในพื้นที่โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับ ผี และ พราหมณ์ จึงเกิดการผสมผสานระหว่าง พุทธศาสนา – ความเชื่อเรื่องผี – ความเชื่อตามหลักศาสนาพราหมณ์ฮินดู รวมถึงความเชื่อจากพุทธศาสนานิกายมหายาน จึงเกิดเป็นพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน (Popular Buddhism) หรือ “พุทธไทย”  ดังจะเห็นได้จากการนับถือบูชาเจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้าเห้งเจีย ซึ่งเป็นแนวคิดของพุทธศาสนานิกายมหายาน ส่วนพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ ที่แผ่เข้าไปในประเทศ  อื่น ๆ ซึ่งผสมผสานกับลัทธิความเชื่อท้องถิ่นและศาสนาในท้องถิ่นนั้น ๆ กลายเป็นพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านของประเทศนั้น ๆ เช่น ลังกา พม่า จีน ทิเบต เวียดนาม เกาหลี         ซึ่ง

แตกต่างจากไทย ในเสวนาครั้งนี้จึงเรียกว่า “พุทธเทศ” ซึ่ง ศ. ดร.วัชระ ได้ยกตัวอย่างประเทศพม่า ที่มีการรับพุทธศาสนาแบบเถรวาทเหมือนไทย แต่พื้นฐานดั้งเดิมนั้นมีความเชื่อเรื่องนัต หรือผีหลวง และนัตโบโบยี หรือ เทวดาที่ดูแลเจดีย์ (ที่คนไทยนิยมเรียกว่าเทพทันใจ) หรือความเชื่อของชาวพุทธที่นับถือนิกายมหายาน ซึ่งเชื่อเรื่องเทพเจ้าเห้งเจียในวรรณกรรมเรื่อง ไซอิ๋ว ซึ่งแต่งขึ้นโดยนักพรตเต๋า ดังนั้นการนิยามความเป็นพุทธไทย พุทธเทศจึงเป็นการนิยามจากความเชื่อและวิถีปฏิบัติ มิใช่คำสอนจากพระคัมภีร์ เน้นไปที่ศาสนิกชนนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า พุทธแท้ พุทธไทย พุทธเทศ มิได้แยกขาดจากกัน เพราะมีจุดเชื่อมโยงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ มีความผสมผสานลักษณะบางอย่างระหว่างกันอยู่ ความเป็นพุทธแท้ ซึ่งจะมีความพุทธแท้มากหรือน้อยนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้นับถือ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะพุทธแท้ พุทธไทย ก็มีลักษณะของการอนุโลมกัน เข้าใจกันว่าพุทธแต่ละรูปแบบนั้นก็มีความเป็นพุทธแท้อยู่ ผสมผสานอยู่

          สำหรับการนับถือพุทธศาสนาของคนไทย หรือ พุทธไทย ส่วนใหญ่จะเป็นพุทธไทย หรือชาวพุทธที่รับอิทธิพลของผีและพราหมณ์มาปะปนอยู่ด้วย บางส่วนมีความเป็นพุทธวิชาการเน้นเชื่อตามพระคัมภีร์ มักมีการถกเถียงกันถึงประเด็นของความเชื่อเช่น วัตถุมงคล แม้ชาวพุทธกลุ่มหนึ่งมองว่าไม่ควรเน้น เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน แต่ขณะเดียวกันก็สามารถมองได้ว่าวัตถุมงคลนี้ใช้บูชาและรำลึกถึงคำสอน เช่น เหรียญ พระเครื่อง หรือในประเด็นของพระพรหม ซึ่งเป็นเทพเจ้าของพราหมณ์แต่พุทธศาสนาก็ไม่ได้ปฏิเสธคติความเชื่อเรื่องนี้ แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าชาวพุทธไทยบางส่วนคิดว่าเป็นพระพรหมเดียวกัน หรือความเชื่อเรื่องพญาครุฑ พญานาค ซึ่งปรากฏในพระคัมภีร์และคำสอนทางพุทธศาสนา  แต่ชาวพุทธไทยกลับนิยมนับถือพญานาคในแง่ของที่พึ่งพา เทพเจ้า ซึ่งหากพิจารณาตามหลักการในคำสอนแล้วนั้น จะพบว่าไม่มีคำสอนให้นับถือกราบไหว้บูชาพญานาค

          นอกจากนี้บางพิธีกรรมนั้น ไม่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา ทางเถรวาท เช่น การบวชแทนคุณ ซึ่งมีความเชื่อว่าลูกชายควรผ่านการอุปสมบทเพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณบิดา มารดา ซึ่งไม่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาผีหรือพราหมณ์ จึงมีความเป็นพุทธไทยอย่างแท้จริง หรือเรื่องของฤกษ์ยาม ศาลพระภูมิ ซึ่งไม่มีในคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่หากไม่งมงาย เป็นไปเพื่อเหตุผลเชิงสังคม ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

          ศ. ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า การนับถือเทพเจ้า ความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ นั้น หากยังคงมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะสูงสุด การเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ความเพียร การพึ่งพาตนเอง ก็ยังคงยอมรับและนับว่าเป็นชาวพุทธ มีความเป็นพุทธอยู่นั่นเอง

          ผศ. ดร.หอมหวล บัวระภา ได้สรุปเนื้อหาของ ศ. ดร.วัชระ  งามจิตรเจริญอีกครั้ง ก่อนจะส่งต่อให้พระครูพิพิธสุตาทร ได้บรรยายต่อเกี่ยวกับประเด็น “พุทธแท้” โดยกล่าวว่า เดิมทีจะไม่มีการเรียกว่าพุทธศาสนา แต่จะเรียกว่าพระธรรมวินัย หรือคำอื่น ๆ เช่น พรหมจรรย์ ซึ่งพระธรรมวินัยนี้เอง เป็นหลักการสำคัญในการพิจารณาความเป็นพุทธแท้ พุทธไทย ขณะเดียวกันสังคมหนึ่งก็มีข้อตกลงเรื่องวินัย ความเชื่อ การวางระเบียบแบบแผนร่วมกัน เช่นเดียวกับสังคมไทย  พระมหาบุญช่วยได้ยกประเด็น ว่าหากมนุษย์เข้าถึงพระธรรมโดยการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ซึ่งผู้ที่สามารถสร้างกฎเกณฑ์ หรือทำให้เกิดการจัดระเบียบในสังคมก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงค้นคว้า ค้นพบและประกาศศาสนา ซึ่งจะแตกต่างจากพระปัจเจกพุทธเจ้า นอกจากนี้พระครูพิพิธสุตาทร ยังได้เสริมประเด็น ศ. ดร.วัชระ ในเรื่องโชคดี โชคร้าย เครื่องราง วัตถุมงคลว่า เป็นเรื่องของจิต สิ่งแวดล้อมในสังคมและยังเสริมประเด็นพุทธศาสนาในแง่ของการเข้าไปมีบทบาทและผสมผสานของวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น จนเกิดเป็นพุทธเทศ หรือพุทธศาสนาในแบบฉบับของท้องถิ่นนั้น ๆ เช่นพุทธลังกา พุทธญี่ปุ่น ฯลฯ หากมองอีกแง่หนึ่งนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นความงดงามและความหลากหลายในสังคม และนับว่าเป็นจุดเด่นของพุทธเทศ เพราะมีการหลักพุทธศาสนาไปปรับประยุกต์ใช้กับบริบทของแต่ละท้องถิ่น เพราะหากพุทธศาสนาเข้าไปในแต่ละท้องถิ่นแล้วลบล้างความเชื่อดั้งเดิมทันทีก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นพุทธเทศคือ พุทธบริษัท (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ล้วนมีบทบาทหน้าที่ เพราะการมีภิกษุณี ก็มีผู้ดูแลนักบวชหญิง หรืออุบาสิกาหญิง ช่วยลดคำครหาในกรณีที่พระสงฆ์เข้าไปดูแลนักบวชหญิงหรืออุบาสิกาหญิงได้ จะเห็นได้จากชุมชนภิกษุณีหลายแห่งที่ได้ช่วยเหลือเด็กผู้หญิงด้อยโอกาสในสังคม เป็นต้น จุดนี้จึงเป็นบทบาท ภารกิจ ของพุทธบริษัทที่ต่างก็มุ่งหมายพากเพียรเพื่อพระพุทธศาสนาและเกิดประโยชน์แก่สังคม เป็นการมองในแง่ของ “โลกทัศน์เปลี่ยน สังคมจึงเปลี่ยน” ซึ่งสิ่งที่ทำให้โลกทัศน์เปลี่ยนคือ ความจริง พิสูจน์ได้ การบรรลุธรรมของพระอริยบุคคลเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าก็นับว่าเป็นข้อสงสัยในโลกทัศน์แบบใหม่ นอกจากนี้โลกทัศน์เกี่ยวกับความจริงก็เปลี่ยนไป เช่น เรื่องบุญ ซึ่งเมื่อก่อนคือจุดหมายหลัก แต่ปัจจุบันอาจมีความคิดหรือโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปมุ่งเน้นเป้าหมายของตนเองมากขึ้น เน้นเรื่องปากท้องของตนเองก่อน เป็นต้น

          อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในปัจจุบันคือ “การรุกคืบของโลกฆราวาส” หมายถึง การเคลื่อนย้ายของความเชื่อของมนุษย์ จากเดิมนั้นโลกจะเคลื่อนด้วยศาสนา เช่น ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามพระเจ้า หลักธรรมคำสอน เรื่องกรรมและผลของกรรม แต่ปัจจุบันโลกถูกขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจ ศิลปะ การศึกษา การเมืองที่เกี่ยวข้องกับวัตถุและทุนนิยม สถาบันทางศาสนาจึงเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงประเด็นของสังคมคนสูงวัย ซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันต้องมองว่าพุทธศาสนานั้นจะเข้าไปมีบทบาทในประเด็นนั้นอย่างไร รวมถึงบทบาทของศาสนาต่อปรากฏการณ์ของโรค โรคเอดส์ HIV โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก กระทั่งล่าสุดคือ “โควิด” และสถานการณ์ ต่าง ๆ ในบ้านเมือง เช่น เหตุการณ์ในวาติกัน การต่อต้านการสร้างมัสยิด เรื่องการบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรจับตามองต่อไปว่าพุทธศาสนาจะมีบทบาทอย่างไรต่อประเด็นสังคมเหล่านี้ ซึ่งการเปลี่ยนสังคมให้มีความเป็นพุทธแท้มากขึ้นนั้น จุดสำคัญคือการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวม โดยใช้วัด ศาสนสถาน หรืออื่น ๆ ที่เหมาะสมเช่น สวนโมกข์ หมู่บ้านพลัม กล่าวคือมนุษย์ต้องพยายามลดวัตถุนิยม บริโภคนิยม และยังต้องรู้จักลดอคติหรือเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่เช่น ไม่ปิดกั้นผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการเข้าวัด เพราะในอดีตหรือแม้กระทั่งปัจจุบันยังมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้อยู่ว่าเป็นโรคติดต่อได้ง่าย เป็นแล้วตายทันที หรือกรณีการติดป้ายของวัดว่าไม่รับเผาศพผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งแสดงถึงการไม่เข้าใจถ่องแท้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของพระหรือฆราวาส ชาวพุทธจึงต้องรู้จักรับข่าวสาร รับรู้ข้อมูล ที่ถูกต้อง  เพื่อเป็นการยกระดับสังคม จิตใจของกันและกัน

          ความเข้าใจระหว่างศาสนา การทำความเข้าใจกันและกัน เป็นประเด็นสุดท้ายที่ พระครูพิพิธสุตาทร ได้หยิบยกขึ้นมาเสวนา โดยมองว่าควรมีการจัดสัมมนา เสวนา เพื่อสานสัมพันธ์และความเข้าใจ เช่น พระมหาบุญช่วย ดูใจ ก็ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายศาสนาเพื่อสังคม รวมตัวผู้นำทางศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อมนุษยชาติ เพราะเป้าหมายคือประชาชนไม่ใช่อยู่ที่ตัวศาสนาคำสอน อีกหนึ่งสิ่งที่พระอาจารย์มองว่าควรให้เกิดขึ้นคือการจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานด้านศาสนสัมพันธ์ การปฏิรูปกิจกรรมด้านศาสนา  ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันของผู้คนที่ต่างศาสนาได้ ถ้ามีความขัดแย้งด้านศาสนาก็จะมีทางออกที่ตรงกันคือการทำความเข้าใจ

          ผศ. ดร.หอมหวล บัวระภา ได้สรุปการบรรยายโดยพระครูพิพิธสุตาทร ไว้ว่า เมื่อมีประเด็นด้านศาสนา การมองหาหนทางแก้ไขความขัดแย้ง การสร้างทัศนคติต่อศาสนิกชนในศาสนาอื่นนั้นอาจแก้ได้ด้วย 2 วิธีนี้ คือ การทำความเข้าใจระหว่างกัน และการมีศาสนสัมพันธ์ คือการสร้างหน่วยงาน องค์กรที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา เพราะทุกศาสนานั้นล้วนแต่มีจุดหมายคือการพัฒนามนุษย์ให้เป็นคนดี และเกิดสันติสุข ซึ่งหลังจากการสรุปประเด็นแล้ว ผศ. ดร.หอมหวล บัวระภา ได้ส่งต่อให้ รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ ได้นำการเสวนาเข้าสู่ช่วงการถาม-ตอบ

          ประเด็นถาม ตอบ เกี่ยวกับหัวข้อ “พุทธแท้ พุทธไทย พุทธเทศ ภายใต้วัฒนธรรมใหม่ (New Normal)” หนึ่งในนั้นคือการตั้งคำถามว่า  คนไทยพยายามเป็นพุทธแท้หรือไม่ ? คนกลุ่มนี้มีมากน้อยเพียงใด และการประกาศตั้งตนหรือเรียกชื่อหรือไม่? ศ. ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ได้ตอบในประเด็นนี้โดยมองว่า ชาวพุทธในสำนักหรือลัทธิต่าง ๆ และชาวพุทธส่วนใหญ่ ก็มักจะยืนยันว่า พุทธศาสนาที่ตนนับถืออยู่นั้นมีความเป็นพุทธแท้ เช่น กรณีของวัดป่านาพง ที่มีแนวทางในการยึดถือและปฏิบัติตามพุทธวจนะเป็นหลัก โดยมองว่าพุทธวจนะมีความเป็นพุทธแท้มากที่สุด  หรือชาวพุทธในบางสำนักที่มองว่าสำนักอื่นมีการยึดถืออัตตา สำนักที่ตนนับถือนั้นไม่มีอัตตา ก็สะท้อนได้ว่า เหมือนการประกาศกลาย ๆ ว่าสำนักของตนเป็น สิ่งที่ตนเชื่อหรือปฏิบัตินั้นตรงตามพุทธประสงค์มากที่สุด หรือมีความเชื่อว่าสำนักตนมีความเป็นพุทธแท้ที่สุด  ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะพบได้มากในสังคมชาวพุทธไทย การมองสำนักอื่นว่ามีความต่างไปจากสำนักตน หรือห่างไกลจากคำสอนพระพุทธเจ้า ก็เหมือนเป็นการยืนยันว่าสำนักของตนเองมีความเป็นพุทธแท้นั่นเอง พระมหาบุญช่วย ดูใจ ดร. ได้แสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับ … โดยยกตัวอย่างสวนโมกขพลาราม และท่านพุทธทาสภิกขุที่มีแนวคิดในการ ดึงความรู้ในพระไตรปิฎกมาเผยแผ่ให้ประชาชน รวมถึงวัตรปฏิบัติที่ใกล้เคียงกับสมัยพุทธกาล แม้มิได้ประกาศว่ามีความเป็นพุทธแท้ไม่แท้ แต่ในทางปฏิบัติก็นับว่าเป็นการยืนยันทางความคิดในเรื่อง “ความเป็นพุทธแท้”

          ประเด็นต่อมา เป็นประเด็นจาก อ. Dr. Souneth Phothisane หลักสูตรวิจัยวัฒนธรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ ซึ่ง อ. Dr. Souneth ตั้งประเด็นเกี่ยวกับ พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ เพราะเคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าศาสนาที่จะอยู่ได้นั้นต้องพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์และเจ้าของทฤษฎีต่าง ๆ ได้ยืนยันและรับรองพุทธศาสนา เช่น ควอนตัม  ไอสไตน์ เป็นต้น เมื่อ อ. ดร.สุเนด โพทิสาน ได้ศึกษาค้นคว้าแล้ว หากมองพุทธศาสนาในมุมของระบบมาร์กซิสม์ (สังคมนิยม) ซึ่งจะมองว่าคำสอนทางพุทธศาสนานั้นเป็นคำสอนในลักษณะปลอบโยน การบวงสรวง สักการะ จึงจะได้รับความสุข ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ หรือความเชื่อในพระพุทธศาสนาที่บอกว่าการฆ่าสัตว์แล้วจะได้รับกรรมไป ๑๐๐ ชาติ  เป็นความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ ความเชื่อในลักษณะดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นยาเสพติดหรือไม่?  และอีกประเด็นหนึ่งนั้น อ. ดร.สุเนด ได้ตั้งประเด็นไว้ว่าพุทธแท้ ควรมีลักษณะแบบพุทธลาว เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า “พะหุชะนะ หิตายะ  พะหุชะนะ สุขายะ โลกานุกัมปายะ” คือ ทุกคนต้องเห็นแก่โลก เห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่ส่วนใหญ่มิใช่ส่วนตนมาก่อน ประชาชนใน สปป.ลาว มีการปฏิบัติตนตามนโยบายของรัฐซึ่งเชื่อว่าทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ดังนั้นหากกล่าวว่าพุทธแบบลาวเป็นพุทธแท้นั้นผิดหรือไม่?

          วิทยากรทั้งสองท่านได้ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าว โดย  พระครูพิพิธสุตาทร ให้ความแห็นว่า หากมองในแง่ของนิยาม 5 ในพุทธศาสนา ได้แก่   อุตุนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ)  พีชนิยาม(กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพันธุกรรม)  จิตนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต) กรรมนิยาม (กฎแห่งกรรม) ธรรมนิยาม (กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) แล้วนั้น จะพบว่ามีลักษณะที่สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์อยู่พอสมควร ในส่วนของประเด็นพุทธลาวคือพุทธแท้นั้น ก็ไม่ผิด เพียงแต่จะเป็นพุทธแท้มากหรือแท้น้อยเท่านั้นเอง หากว่าศาสนาพุทธนั้นไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมก็คงเป็นพุทธแท้ไม่ได้ แต่การสร้างประโยชน์นั้นพระพุทธเจ้าจะสรรเสริญผู้ยังประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวม ซึ่งหมายรวมถึงการพัฒนาตนเอง ยกระดับจิตใจ การเข้าสู่ธรรมของตนเองควบคู่ไปกับการทำสิ่งดีงามเพื่อสังคม  ศ. ดร.วัชระ มองว่า การมองว่าศาสนาที่จะอยู่รอดได้จะต้องเข้ากับวิทยาศาสตร์ได้นั้น อาจถูกต้องเพียงบางส่วน เพราะถ้าพุทธศาสนาเหมือนวิทยาศาสตร์ทั้งหมด พุทธศาสนาก็คงไม่จำเป็นต้องมีอยู่ เพราะวิทยาศาสตร์แทนที่ได้ทั้งหมด แต่ศาสนาจะขัดกับวิทยาศาสตร์ทั้งหมดเลยก็ไม่ได้เพราะจะไม่มีน้ำหนักของความน่าเชื่อถือ ดังนั้นประเด็นความไปกันได้หรือเข้ากันได้ของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์นั้น ก็ตรงกับเรื่องของนิยาม 5 ที่พระมหาบุญช่วยได้กล่าวไว้ แต่บางส่วนนั้นจะเหมือนไม่ได้ เพราะพุทธศาสนานั้นจะต้องคงเอกลักษณ์ หรือลักษณะเด่นเอาไว้ เช่นเดียวกับพุทธศาสนาที่มีลักษณะเด่น หรือ เอกลักษณ์คือการเป็นศาสนาที่ยกระดับจิตวิญญาณ สิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้ได้คือเรื่องของจิตวิญญาณ พุทธศาสนาบางส่วนจึงไม่เข้ากับวิทยาศาสตร์บ้าง เพื่อคงไว้ในเรื่องของจิตวิญญาณ เพื่อเป็นผู้นำด้านชีวิต จิตใจที่นอกเหนือไปจากหลักทางวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์นั้นมีขอบเขตคือเรียนรู้จากโลกแห่งประสบการณ์ แต่พุทธศาสนาสามารถเรียนรู้โลกนอกประสบการณ์ วิทยาศาสตร์จึงไม่สามารถยืนยันบางเรื่อง หรือความรู้บางอย่างได้ เช่น เรื่องผี พญานาค ที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์อาจมองว่าไม่มี พิสูจน์ไม่ได้ หรือไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งความจริงแล้วความเชื่อเรื่องผี พญานาค ฯลฯ นั้นอยู่นอกขอบข่ายการศึกษาของวิทยาศาสตร์แท้ อย่างไรก็ตามส่วนที่ศาสนากับวิทยาศาสตร์มองต่างกัน ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ควรขัดแย้ง หรือนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะอยู่คนละกรอบและขอบข่าย ในประเด็นที่ว่าศาสนาที่จะอยู่ได้ต้องไปกับวิทยาศาสตร์ จึงถูกต้องเพียงบางส่วน สำหรับประเด็นพุทธลาวเป็นพุทธแท้หรือไม่นั้น ศ. ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ มองว่าก็เหมือนกับสถานการณ์ของพุทธไทย ซึ่งมีความเป็นพุทธแท้อยู่แล้ว ส่วนแท้นั้นอาจปะปนกับส่วนไม่แท้ และด้วยพื้นฐานด้านวัฒนธรรม พื้นที่ชายแดนอยู่ติดกัน ลักษณะการดำรงอยู่ของพุทธลาวจึงมีลักษณะเหมือนการดำรงอยู่ของพุทธไทย

          พระมหาพงศ์ทราทิตย์ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาปรัชญาและศาสนาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เพิ่มเติมข้อคิดเห็นในประเด็นข้างต้นว่า พุทธศาสนาแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนาในไทยหรือรับการสืบทอดมา ได้ผ่านกาลเวลา และ สถานที่ (Space and Time) ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการครอบด้วยอำนาจของทางปกครองของรัฐ ประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ รวมถึงบทบัญญัติของคณะสงฆ์แต่ละประเทศ ดังนั้นศาสนาพุทธในโลกนี้ จึงไม่ใช่พุทธแท้บริสุทธิ์ อย่างแน่นอน อาจมีการผสมผสานเข้ากับประเพณีวัฒนธรรมและกรอบรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพราะฉะนั้นแนวทางหรือแนวโน้มของพุทธศาสนา ณ ปัจจุบัน จึงเป็นพุทธศาสนาที่เป็นไปตามแนวทางของมิติสังคมเป็นหลัก เพราะว่าหน้าที่ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจะมีลักษณะ 2 ประการคือ การทำกิจเพื่อตนและการทำกิจเพื่อส่วนรวม พระสงฆ์ในปัจจุบันจึงต้องทำหน้าที่พัฒนากรทรัพยากรมนุษย์ พระ เณร ที่เข้ามาศึกษาในระบบก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นกัน

          นอกจากประเด็นที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีประเด็นที่น่าสนใจและกำลังเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสสังคมที่ตั้งคำถามโดย ดร.ภัทร คชภักดี คือ ปรากฏการณ์ไลฟ์โค้ช (Life Coach) ซึ่งเป็นกระแสนิยม และกลายเป็นที่พึ่งของผู้คนในยามเผชิญปัญหา จากประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้ร่วมเสวนาได้ตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองพุทธจึงยังต้องพึ่งไลฟ์โค้ช ในเมื่อมีพุทธศาสนา ดังนั้นวงการพุทธศาสนามองปรากฏการณ์นี้อย่างไร? และเมื่อเกิดปรากฏการณ์ไลฟ์โค้ชขึ้นมา ในอนาคตพุทธศาสนาจะปรับตัวอย่างไรให้คนรุ่นใหม่หันกลับมามองพุทธศาสนา หรือมองพุทธศาสนาเป็นไลฟ์โค้ช? สำหรับประเด็นนี้ ศ. ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ มองว่า ไลฟ์โค้ช หรือ โค้ชชีวิตได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของผู้คน เพราะไลฟ์โค้ชจะคอยรับฟัง ให้คำปรึกษาให้ผู้คนได้หยุดคิด แก้ปัญหา จะเห็นว่าไลฟ์โค้ชนั้นก็มีลักษณะคล้ายพุทธศาสนา คือมีหลักการโยนิโสมนสิการ มีความเป็นกัลยาณมิตร แต่ปัจจุบันจะมีกิจกรรมแนวจิตปัญญาศึกษา ที่คล้ายไลฟ์โค้ช เพราะใช้หลักการคล้ายกัน แต่จิตตปัญญาศึกษาจะมีส่วนของพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องมีการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังตัวเอง การสวดมนต์ การเจริญจิตภาวนา กิจกรรมนี้จะทำให้คนรู้จักตนเอง แก้ปัญหาชีวิตได้ จึงจะคล้ายกับการฟังหรือปรึกษาไลฟ์โค้ชและคล้ายกับหลักพุทธศาสนาด้วย แต่พุทธศาสนาในปัจจุบันยังมีรูปแบบกิจกรรมเดิม ๆ ซึ่งอาจจะไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนให้มารับฟังหรือสนใจมากขึ้น พุทธศาสนาจึงต้องพยายามปรับรูปแบบให้น่าสนใจมากขึ้น ผ่านกิจกรรมเชิงรุกมากขึ้น ตอบโจทย์สังคมมากขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลกระทบ เช่น ไลฟ์โค้ชมีบทบาทมากกว่าพระสงฆ์ หรือคนพึ่งพาพุทธศาสนาน้อยลงได้

          พระครูพิพิธสุตาทร ได้เสริมในประเด็นข้างต้นว่า บทบาทของพระสงฆ์ในแง่ของการให้คำปรึกษานั้นลดน้อยลงอย่างชัดเจน หากมองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่ผ่านมา จะเห็นว่าเมื่อคนในสังคมมีปัญหาจะหันหน้าไปพึ่งพาวัด และพระสงฆ์ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะวัดบางแห่งกลายเป็นสถานที่ที่มีเรือ มีขอนไม้ หรือวัตถุมงคลให้ชาวบ้านได้ผูกผ้าสี จากปรากฏการณ์นี้ พระมหาบุญช่วยมองว่าเป็นหน้าที่และบทบาทของพุทธบริษัททุกส่วน ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มหรือสังฆะ(ชุมชน) เช่น หมู่บ้านพลัม ของหลวงปู่ติช นัช ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ซึ่งเป็นสังฆะนักบวช สังฆะฆราวาส ซึ่งได้มารับฟังปัญหาของกันและกัน และมีพระสงห์หรือผู้นำทางจิตวิญญาณช่วยชี้แนะ หรือกรณีของประเทศญี่ปุ่น มีองค์กรพุทธฆราวาสริชโช โคเซไค ซึ่งมีออฟฟิศของคณะ ห้องสวดมนต์ และห้องให้คำปรึกษาหลายสิบห้อง ซึ่งผู้ร่วมพิธีกรรมในนิกายดังกล่าวจะมีพื้นที่ให้คำปรึกษา รับฟังคำปรึกษา ซึ่งดำเนินการโดยฆราวาส เมื่อมองย้อนกลับมาในสังคมไทย ฆราวาสไทยทำอะไร? ต้องตั้งคำถามกลับไปยังพุทธบริษัทไทย พุทธสมาคมไทยทำอะไรบ้าง ซึ่งด้านของพระสงฆ์ก็พยายามจะสร้างและผลักดันในลักษณะของไลฟ์โค้ชอยู่เช่นกัน

          ผศ. ดร.บุรินทร์  เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ร่วมรับฟังการเสวนาครั้งนี้ได้กล่าวถึงสภาพปัญหาละผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เกิดข้อสงสัยในประเด็นเกี่ยวกับวิถีปฏิบัติของชาวพุทธซึ่งผูกโยงกับเทคโนโลยีมากขึ้น เกิดเป็นวิถีปฏิบัติใหม่ เช่น การเวียนเทียนออนไลน์ สวดมนต์ออนไลน์ ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมและพุทธศาสนาบ้าง? ศ. ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ได้ตอบในประเด็นนี้ว่าวิถีใหม่ เช่น การเวียนเทียนออนไลน์ ลอยกระทงออนไลน์ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบแน่นอน การที่คนไม่เข้าวัด แต่ทำบุญผ่านรูปแบบออนไลน์ ก็จะทำให้ “ขาด” บางสิ่งไปเพราะการไปวัดจริง ๆ นั้น จะทำให้ได้พบกับพระสงฆ์ ผู้รู้ เจอผู้เฒ่าผู้แก่ มิตรสหาย ซึ่งการพบปะกันจะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพูดคุยกันเกี่ยวกับพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม หากทำบุญหรือทำศาสนกิจผ่านทางออนไลน์ ก็จะทำให้ขาดโอกาสเหล่านี้ไป สิ่งที่วัดจะได้รับ เช่น ค่าบำรุงศาสนสถาน ค่าบำรุงน้ำไฟ ก็จะขาดหายไปเช่นกัน และเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นรูปแบบศาสนพิธีออนไลน์จึงส่งผลกระทบอย่างแน่นอน แต่ปัจจุบันก็ยังถือว่าผู้คนนั้นนิยมไปวัดจริง ๆ มากกว่า แต่ในอนาคตนั้นหากผู้นิยมไปวัดน้อยลงกว่าปัจจุบัน วัดอาจต้องปรับตัวและปรับกลยุทธ์บางอย่าง ให้สามารถดึงผู้คนให้หันกลับมาเข้าวัด
พระครูพิพิธสุตาทร มองว่า ปัจจุบัน “วัด” ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้จูงใจให้ศาสนิกชนเข้าไป เพราะปัจจัยต่าง ๆ เช่น ด้านกายภาพ ซึ่งปกติหากไม่มีปัญหาโควิด-19 ที่ต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์ คนก็เข้าวัดน้อยลงอยู่แล้ว ตอนนี้เมื่อเจอปัญหาก็ทำให้คนเข้าวัดน้อยลงไปอีก ประเด็นของ Space หรือพื้นที่จึงเป็นประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ เพราะพื้นที่ของวัดนั้นเป็นพื้นที่ที่สามารถฝึกคน และคุณธรรมเชิงบวก เช่น เมื่อมาวัดจะทำให้ได้ฝึกระเบียบวินัย การเคารพกติกาของสังคม เช่น การถอดรองเท้าก่อนเข้าไปในศาลาหรืออุโบสถ หรือการรู้จักลดความเห็นแก่ตัวผ่านกิจกรรมการให้ การทำบุญ ดังนั้นวัดจึงต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้สมบูรณ์ การดูแลพื้นที่ให้พร้อมฝึกฝนเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่น ๆ จากผู้ร่วมเสวนา ในประเด็นที่ว่า หากแม่ตะเคียนหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ถูกจัดเป็นพุทธเทียม แล้วพุทธแท้จะมองอย่างไร หรือมีบทบาทอย่างไรต่อเรื่องนี้ ? พระมหาบุญช่วย ดูใจ ดร.  ได้ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ชาวพุทธต้องช่วยกัน สื่อสารสิ่งที่เป็นพุทธแท้ให้มากขึ้น สื่อสารว่าหลักของพุทธศาสนานั้นมองเรื่องนี้อย่างไร หาโอกาสในการแลกเปลี่ยนกัน อาจเป็นช่องทางออนไลน์

          คำถามสุดท้ายของการเสวนาครั้งนี้ เป็นคำถามจาก อาจารย์คำพันธ์  ยะปะตัง ได้หยิบยกผญาที่ว่า “ศาสนานับมื้อส่วย ขันกระบวยเริ่มไกลแอ่ง สาวผมแดงขี้ดื้อ ตีคิ้วใส่พระเณร เริ่มสิเห็นจริงแท้ตามคำพระองค์ พอศอสองพันห้าตาสิแจ้งส่องเห็น เป็นคือคำพ่อเว้าคำเก่าบรรพกาล มารสิมาครองเมืองส่งเสียงสำเนียงฮ้อง แนวเซื้อของพ่อเจ้าเตลิดหนีเข้าป่า หาผู้มาซ่อยค้ำ สูญสิ้นเสื่อมสลาย ยามเมื่อกาลเคลื่อนย้ายโศลกใหม่ห้าพันปี ซุมพระเถรเณรชีสิบ่มีเกี้ยง มีแต่เสียงมารฮ้องประกาศโตเป็นใหญ่ จนกว่าไตรแก่นแก้วศรีอาริย์เจ้าสิต่าวคืน” (ความหมายโดยรวม – ศาสนาเสื่อมถอย ถูดลดบทบาทลงจากสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ )คำปูมปัญญาหรือผญาโบราณ เมื่อเทียบกับวัฒนธรรมใหม่ในสังคม ผญานี้ยังน่าสนใจ จึงอยากให้วิทยากรได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับผญาบทนี้   ซึ่งพระครูพิพิธสุตาทร  ได้แสดงความคิดเห็นว่า คนโบราณนั้นได้มองไปข้างหน้าถึงอนาคต โดยบอกเหตุด้วยว่าเกิดจากอะไร มีอะไรเกิดขึ้นก่อนไปสู่ความเสื่อมของศาสนาอนาคต แม้จะเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ แต่เมื่อพิจารณาอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ทำให้เกิดประเด็นที่ควรพิจารณาต่อไปคือ เราได้นำเอามูลเหตุในผญา หรืออนาคตในผญานั้นมาหาทางแก้ไข หรือหาทางป้องปันการเสื่อมถอยของศาสนาหรือยัง? ซึ่งการเสื่อมไปนั้นเป็นเรื่องธรรมดา การเสื่อมไปอย่างไรให้มีคุณค่า นำไปสู่การใช้หลักธรรมให้เกิดประโยชน์ในสังคม จึงเป็นประเด็นที่ควรนำมาคิดต่อร่วมกัน ในมุมมองของ  ศ. ดร.วัชระ งามจิตรเจริญนั้นมองว่า หลักธรรมหรือแก่นแกนของพุทธศาสนานั้นไม่ได้เสื่อมถอยลงไป แต่วิถีปฏิบัติของผู้คนหรือชาวพุทธต่างหากที่เสื่อมลงไป แต่ก็ใช่ว่าจะเสื่อมลงไปตลอด เพราะมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขึ้นลงอยู่เสมอ ดังสมัยก่อน รัฐบาลกลัวคนจะเข้าป่า ทิ้งบ้านทิ้งเมือง ก็ห้ามพระสอนเรื่องนิพพาน เรื่องสันโดษ เพราะกลัวคนไปนิพพานกันหมด เป็นต้น เรื่องการเสื่อมถอยไปนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราควรช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรพุทธศาสนาจึงจะเสื่อมถอยน้อยลง และอยู่คู่สังคมได้อีกนาน อย่างเช่น กรณีของพระมหายานในญี่ปุ่น ที่ต้องมีการปรับตัว พระสามารถมีครอบครัวได้ มีการเทศน์ในรูปแบบเพลงแรป เพลงร็อค ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปรับตัวในสภาวะที่คนเข้าวัดน้อยลงนั่นเอง

ช่วงท้ายของการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “พุทธแท้ พุทธไทย พุทธเทศ ภายใต้วัฒนธรรมใหม่ (New Normal)” รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ ได้ประชาสัมพันธ์ว่าโครงการเสวนาออนไลน์ประเด็นด้านศิลปวัฒนธรรมยังคงจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเสวนาออนไลน์ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2563  ในหัวข้อ “ตายแล้วไปไหน คติหลังความตายในอุษาคเนย์” โดย ดร.ยุทธพงศ์  มาตย์วิเศษ สถานภาพและสภานการณ์ทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ทำให้ทั้งฝ่ายสงฆ์ ฝ่ยฆราวาสเกิดความเป็นห่วงว่าความเป็น “พุทธแท้” นั้นจะค่อย ๆ ห่างหายและเสื่อมถอยลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ซึ่งนำมาสู่วิถีชีวิตใหม่ พิธีกรรมทางพุทธศาสนา การรวมตัวในศาสนสถานเป็นสิ่งที่ต้องงดเว้น ระยะห่างของศาสนิกชนกับวัดเริ่มกว้างออกไป และกั้นด้วยการสื่อการแบบออนไลน์ เป็นการที่พุทธศาสนาจะต้องมีการปรับตัวไปด้วย พุทธศาสนาในปัจจุบันมีทั้งพุทธไทย พุทธเทศ และการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์การณ์ไลฟ์โค้ช ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นพุทธแท้ พุทธเทียม พุทธเทศ หรือพุทธไทย หรือพุทธแบบใดนั้น ก็ไม่สำคัญเท่ากับการนำมาปฏิบัติแล้ววัดผลได้ จนนำทางชีวิตไปสู่สัมมาทิฎฐิหรือมรรคปฏิบัติอันเหมาะควร เพื่อให้เกิดความสุขในระดับโลกียะและโลกุตระต่อไป และไม่ว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมถอยไปหรือไม่นั้น ไม่ใช่แค่หน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะชะลอวงล้อวงเวลาความเสื่อมนั้นให้ช้าลง แต่เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททีต้องช่วยกันทำให้พุทธศาสนาจรรโลงสังคมนี้ต่อไป 

]]>