หมอลำเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ถือกำเนิดในท้องถิ่นภูมิภาคอีสาน คำว่า “หมอ” ในความหมายของภาษาอีสานใช้เรียกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญการ เช่น หมอยา หมอธรรม หมอสูตรขวัญ ในด้านการแสดงผู้ชำนาญการเป่าเรียกว่า “หมอแคน” ผู้ชำนาญการขับร้องขับลำเรียกว่า “หมอลำ”
หมอลำเป็นวัฒนธรรมการแสดงที่มีกำเนิดเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนตระกูล “ไท” และได้มีการพัฒนาการมาจนถึงการเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนกลุ่มตระกูลไทย – ลาวสองฝั่งโขง ซึ่งถือกำเนิดเกิดจากการขับกลอนเช่นเดียวกัน แต่ในปัจจุบันเรียกต่างกัน ในประเทศลาวเรียกว่า “ขับ” เช่น ชับงึม ขับทุ้มหลวงพระบาง เป็นต้น ส่วนหมอลำในภูมิภาคอีสาน สันนิษฐานว่า คำว่า “ลำ” หมายถึงบทร้อง บทกลอน จากการ “ขับลำ” สองฝั่งโขงจากหนองคาย – เวียงจันทร์ถึงอุบลราชธานี – จำปาสัก คำว่า “ลำ” จึงหมายถึงบทร้อง บทกลอน
ประเภทหมอลำ
หมอลำผีฟ้า หมอลำที่ติดต่อกับผีฟ้า ความมุ่งหมายของการร้องรำผีฟ้าก็เพื่อรักษาคนป่วย ถ้าคนป่วยอาการหนัก อาจจะไม่ลุกก็ได้ ไม่ได้เจตนาลำเพื่อสร้างความบันเทิงให้แกผู้ฟัง แต่มุ่งสร้างความบันเทิงให้ผู้ป่วยเป็นสำคัญ
หมอลำพื้น หมอที่เล่านิทานด้วยการลำ (ขับร้อง) เริ่มต้นจากการนำเอากลอนนิทานที่แต่งเป็นคำสอนจากใบลานและนิทานคำกลอน มาแสดงโดยมีผู้แสดงคนเดียว สวมบทบาทเป็นตัวละครทุกตัว ไม่มีฉากประกอบ มีเพียงแคนหนึ่งเต้าบรรเลงประกอบกลอนลำ
หมอลำกลอน ที่ลำโดยใช้กลอน ถ้าจะให้ใกล้เคียงกับความหายก็น่าจะเป็น “หมอลำโต้กลอน” มากกว่า เพราะเป็นการลำแข่งขันโต้ตอบกันด้วยกลอนลำ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ หมอลำกั๊บแก๊บ หมอลำกลอนและหมอลำชิงชู้ สมัยก่อนจะเน้นในทางแข่งวิชาความรู้กันเป็นหลัก
หมอลำสินไซ หมอลำที่พัฒนาการมาจากหมอลำพื้นโดยนำกลอนนิทานเรื่องสินไซมาดำเนินเรื่อง ซึ่งมีการแสดงในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม เรื่องจากการแสดงหมอลำเรื่องสินไซ มีตัวละครมาก อีกทั้งหลากหลายอรรถรส มีดนตรีประกอบมากขึ้นจากแคน การมีจังหวะหลากหลาย ทำให้เกิดการใช้กลองและฉิ่งเป็นองค์ประกอบเพิ่มขึ้น