จเร ภักดีพิพัฒน์
นายจเร ภักดีพิพัฒน์ หรือชื่อที่รู้จักในวงการ คือ เพชร พนมรุ้ง เกิดเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๔ ที่อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ จากโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง กรุงเทพมหานคร
เพชร พนมรุ้ง เป็นศิลปินอีกท่านหนึ่งที่มีความสามารถในการขับร้องเพลงลูกทุ่งในแบบฉบับของตนเองคือรูปแบบเพลงโห่ ซึ่งเพลงลูกทุ่งแนวนี้ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก อิทธิพลนี้ได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๐ จากภาพยนตร์แนวคาวบอย หรือคาวเกิร์ล ของฮอลลีวู้ด ซึ่งได้แฝงทำนองเนื้อร้องที่เราเรียกว่า “โห่” เอาไว้ในเพลง ทำให้เขาเกิดความสนใจในแนวทางนี้ จึงคิดนำมาประยุกต์และดัดแปลงเข้ากับทำนองเพลงลูกทุ่งในประเทศไทย ด้วยความหลงใหลและสนใจในกลิ่นอายของเพลงโห่ทำให้ เพชร พนมรุ้ง จำลีลาการร้องลูกคอแบบฮาร์โมนิกจากศิลปินท่านอื่น ๆ และยังได้หัดเล่นกีตาร์ เบนโจ จากพี่ชายที่ได้เรียนรู้มาจากนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ที่เข้ามาเล่นดนตรีในประเทศไทย ซึ่งในยุคสมัยนั้นเมืองไทยยังไม่ค่อยมีการใช้เครื่องดนตรีสากลมากนักต่อมาเพชร พนมรุ้ง ได้เข้าประกวดร้องเพลงโดยใช้ชื่อและนามสกุลจริง (จเร ภักดีพิพัฒน์) ในเวทีงานภูเขาทอง วัดสระเกศ จนทำให้ครูพยงค์ มุกดา เห็นแววและชื่นชอบในการร้องเพลงแบบโห่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หลังจากนั้นไม่นานก็ทำให้ทุกคนรู้จัก เพชรพนมรุ้ง ในนามศิลปินเพลงโห่ของเมืองไทย ผลงานเพลงชิ้นแรกๆ ที่ครูพยงค์ มุกดา ได้ประพันธ์ให้ เช่น ใกล้รุ่ง, อย่ากลัว เป็นต้นแต่เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้เพชร พนมรุ้ง มากที่สุดเห็นจะเป็น เพลง“เมื่อเธอขาดฉัน” ประพันธ์โดย ชัยชนะ บุญนะโชติ นอกจากนี้ยังมีผลงานเพลงอีกมากที่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลง อาทิ ลูกทุ่งเสียงทอง, ธรรมชาติบ้านนา ๑ ,บางปู ๑, หนุ่มนักเพลง, ประกายเดือนฯลฯ จนทำให้ “เพชร พนมรุ้ง” ได้รับฉายาให้เป็น “ราชาเพลงโห่”หรือที่เราคุ้นเคยในนาม “จังโก้ไทยแลนด์”
เพชร พนมรุ้ง นับเป็นศิลปินอีกท่านหนึ่งที่มีแนวการร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะการนำทำนองเพลงของตะวันตกมาประยุกต์ให้เข้ากับคำร้องเนื้อร้องที่เป็นภาษาไทยได้อย่างลงตัวจนทำให้เพลงประเภทนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ฟังในประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ได้รับเหรียญพระราชทานสังคีตมงคลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ และในปี พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานเพลงดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค ๒ จากเพลง “ลูกทุ่งเสียงทอง”
นายจเร ภักดีพิพัฒน์ หรือ เพชร พนมรุ้ง จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง(ขับร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป