ครุธ ภูมิแสนโคตร
นายครุธ ภูมิแสนโคตร เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เกิดที่บ้านทรายขาว ตำบลนาเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นายครุธ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านทรายขาว หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อทางพระธรรมวินัย ที่วัดลาด (ราษฎร์วิสิษฐ์) หมู่ที่ ๓ ตำบลนาเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จนสอบได้นักธรรมชั้นโทในปี ๒๕๑๑
นายครุธ ภูมิแสนโคตรได้ศึกษาศิลปะการเขียนลายไทย และการตัดกระดาษจากช่างท้องถิ่นในอำเภอเสลภูมิ วิชาเหล่านี้ได้นำมาตกแต่งบั้งไฟแห่ และ โลงศพ และเมื่อก่อนงานศิลปะสาขาต่าง ๆ ยังไม่แพร่หลายในภูมิภาค ผู้ที่สนใจศึกษาต้องเดินทางไปหาครูอาจารย์ตามวัดต่าง ๆ นายครุธ ภูมิแสนโคตรจึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนวิชาแกะสลักไม้จากช่างที่เชียงใหม่เป็นระยะเวลา ๑ ปี และ ได้เข้ารับการเรียนรู้จากครูช่างอีสาน คือ นายอุทัยทอง จันทกรณ์ และ ศิลปินแห่งชาติชาวอีสาน คือ ครูคำหมา แสงงาม ที่จังหวัดร้อยเอ็ด จึงทำให้นายครุธ เป็นผู้ที่มีความสามารถทางศิลปะพื้นบ้านหลายแขนง อันเนื่องมาจากความชื่นชอบและใฝ่ศึกษาอยู่ตลอด ทำให้ท่านมีความเชี่ยวชำนาญในงานช่างหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นช่างแกะสลักไม้ ช่างตัดกระดาษช่างทำบั้งไฟ ช่างปูนปั้น ช่างแกะสลักต้นเทียน ปูนปั้นตามโบสถ์ หรือศาสนคาร ผลงานของท่านล้วนเป็นการผสมผสานความเป็นหัตถศิลป์ท้องถิ่นสู่การประยุกต์ และนำมาสอดร้อยกับผลงานศิลปะท้องถิ่นของตนเอง จนได้เกิดเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น นายครุธมีความตั้งใจแต่เดิมทีว่า การถ่ายทอดงานศิลปะเหล่านี้เพื่อบูชาและสักการะพระพุทธศาสนา ผ่านผลงานพหุศิลป์ ให้เกิดเป็นผลงานใหม่ ๆ ออกมาเป็นเชิงช่างเฉพาะ เช่น การประดับและแต่งรถแห่บั้งไฟเมืองยโสธร โดยใช้เศียรพญานาคประดับตกแต่งบนหัวบั้งไฟ และ เป็นผู้ที่พัฒนางานศิลปะการประดิษฐ์บั้งไฟที่ทำด้วยไม้มาเป็นปูนปั้น และพัฒนามาเป็นเรซินในปัจจุบัน ผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ การประดับและสร้างโลงเผาศพพระเถรานุเถระผู้ใหญ่ในแถบอีสาน
นายครุธ ภูมิแสนโคตร ถือเป็นช่างต้นแบบที่มีการพัฒนาการตกแต่งบั้งไฟ ด้วยฝีไม้ลายมือทางเชิงช่างศิลปะหลายแขนง จนได้รับรางวัลการประกวดบั้งไฟในเขตอีสาน ตั้งแต่ ปีพุทธศักราช ๒๕๒๕จนถึงปัจจุบัน ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นคนดีศรีเสลภูมิ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ นอกจากนั้นยังได้รับรางวัลศิลปินพื้นบ้านภาคอีสาน จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาทัศนศิลป์ ประเภทอนุรักษ์พุทธศาสนาและประเพณีไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ และได้รับคัดเลือกเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์แก่กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ ในสถานะศิลปินท่านก็เป็นศิลปินที่สืบทอดมรดกวัฒนธรรมอีสานให้คงอยู่ส่วนอีกบทบาทสถานะหนึ่งนั้นท่านเป็นครูผู้อุทิศตนถ่ายทอดองค์ความรู้เป็นวิทยาทาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานช่างศิลป์ ประดิษฐ์และตกแต่งศาสนคาร การแกะเทียน ปูนปั้น และที่โดดเด่นคือ ประดับบั้งไฟ แก่สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมิได้ขาด ท่านได้ตั้งปณิธานไว้ว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ควรมองเห็นงานศิลปะท้องถิ่นที่ท่านได้สรรค์สร้าง กอปรกับงานศิลปะของบรรพบุรุษจะคงอยู่ และสืบทอดต่อให้บรรพชนรุ่นหลัง
นายครุธ ภูมิแสนโคตร เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยใจรัก และเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของชาติ ผลงานที่ท่านริเริ่มล้วนเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น นายครุธ ภูมิแสนโคตร จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (พหุศิลป์ท้องถิ่น) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป