กฤษณา วรรณสุทธิ์
นางกฤษณา วรรณสุทธิ์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม หมอลำกฤษณา บุญแสน เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ที่บ้านดู่อีโต้ ตำบลธวัชบุรี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ปัจจุบันอายุ ๖๕ ปี สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากศูนย์บริการการศึกษานอกระบบฯ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ภายหลังในปีพ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดด้วยเติบโตมาในครอบครัวหมอลำซึ่งบิดาเป็นหมอลำที่มีชื่อเสียง จนได้ฉายาว่า หมอลำบุญมา ตู้แตก นางกฤษณาจึงเจริญรอยตามบิดา การแสดงหมอลำของนางกฤษณา วรรณสุทธิ์เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ว่าจ้าง เป็นที่นิยมชมชอบของผู้ชม กลายเป็นศิลปินพื้นบ้านอีสานที่ได้รับการยอมรับและยกย่องในพื้นที่สื่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง
นางกฤษณา วรรณสุทธิ์ เป็นศิลปินที่มีความสามารถด้านการแสดงลำกลอน และเป็นครูผู้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติให้แก่ลูกศิษย์ มีผลงานมากมาย อาทิ “มูนมังอีสาน” “ครบเครื่องเรื่องลำกลอน” “ลำกลอนชุดบุญประเพณี” ได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านหมอลำ ช่วยในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้แก่หน่วยงานราชการ เช่น การรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อ รณรงค์การเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร กลอนธรรมะจากชาดกที่สอดแทรกข้อคิด คติธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา จนผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ทั้งการแสดงระดับประเทศและต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
นางกฤษณา วรรณสุทธิ์ ได้อุทิศตนให้แก่วงการหมอลำมายาวนานในฐานะที่เป็นผู้อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะศิลปะอีสานด้านหมอลำให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย นอกจากนี้ยังได้อุทิศตนเป็นครูผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านหมอลำ การขับร้อง กลอนลำ เป็นวิทยากรให้กับนักเรียนทั้งในระบบและนอกระบบเป็นครูชำนาญการสอนวิชาศิลปะพื้นบ้าน วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด และที่ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย “ศูนย์รวมหมอลำดีกฤษณา บุญแสน” ให้แก่ลูกศิษย์ทั้งในสถาบันการศึกษาและผู้ที่สนใจ จนเกิดหมอลำรุ่นใหม่ช่วยสืบสานศิลปวัฒนธรรมอีสานให้คงอยู่ต่อไป
นางกฤษณา วรรณสุทธิ์ เปน็ ศิลปนิ ที่มีความสามารถในการขับร้องหมอลำเป็นอย่างดียิ่ง ด้วยความเฉลียวฉลาดในการด้นกลอนลำ มีปฏิภาณไหวพริบประพันธ์กลอนลำ น้ำเสียงที่ไพเราะทรงพลัง โดยทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่ศิลปะการแสดงหมอลำอันทรงคุณค่า ช่วยสืบต่อลมหายใจของศิลปะอีสานให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน นางกฤษณาวรรณสุทธิ์ (หมอลำกฤษณา บุญแสน) จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำกลอน) พุทธศักราช ๒๕๖๑ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป