โสโชค สู้โนนตาด
นายโสโชค สู้โนนตาด หรืออาจารย์โสโชค สู้โนนตาด เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๑ ปัจจุบันอายุ ๕๗ ปี ภูมิลำเนาบ้านเลขที่ ๒๓๕ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๖๕ หมู่ ๑๒ ตำบลบ้านเขว้าอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ การศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโทศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
อาจารย์โสโชค สู้โนนตาด เป็นที่รู้จักกันดีในนาม “มือพิณอีเต็งแห่งเมืองชัยภูมิ” เป็นผู้ก่อตั้งโครงการต่าง ๆ ที่นำพลังของวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ให้โลดแล่นและพลิกฟื้นคืนชีวิตกลับคืนมาในสังคม เช่นเป็นผู้ริเริ่มงานประจำปี อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ โดยการนำประเพณีบุญล้อมข้าวขึ้นมาเป็นจุดเด่นและสร้างสรรค์เป็นเอกลักษณ์ จากความสำเร็จในครั้งนั้นทำให้จัดงานดังกล่าวขึ้นต่อเนื่องทุกปี นอกจากนั้นยังสนับสนุนประเพณีเส็งกลองให้คงอยู่โดยตลอด โดยจัดการประกวดและจัดการแสดงอยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งสอนและเผยแพร่ความรู้เรื่องดนตรีพื้นบ้านสำหรับนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจใฝ่เรียนรู้ อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอีสานอยู่เสมอ
นายโสโชค สู้โนนตาด มีผลงานสร้างสรรค์ด้านดนตรีอีสานที่โดดเด่นหลายผลงาน เช่น ลายเซิ้งดำนา (สาวนาหารัก) ลายเซิ้งเกี่ยวข้าวและลายเซิ้งทอหูก เป็นผู้ก่อตั้งวงโปงลางให้แก่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นผู้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย สวมใส่ผ้าไทยร่วมงานวันสำคัญเสมอ ๆ มีการครองตนที่ดี รักษาเอกลักษณ์ของตนเองด้วยการสะพายพิณคู่ชีพ หรืออีเต็งแห่งเมืองชัยภูมิ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นได้รับยกย่องเชิดชูและรางวัลเกียรติยศมากมายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายโสโชค สู้โนนตาด ได้มุ่งมั่น สืบสาน ตลอดจนได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรพิเศษในด้านการเผยแพร่ดนตรีแก่เยาวชนและผู้ที่สนใจ ที่จะสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีพื้นบ้านรวมถึงได้รับเชิญเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในนามปราชญ์พื้นบ้านทั้งในโรงเรียนหมู่บ้านหรือองค์กรต่าง ๆ ด้วยความรักในการแสดงดนตรีพื้นบ้าน จึงเล็งเห็นคุณค่าทั้งศาสตร์และศิลป์โดยมีความพร้อมที่จะส่งเสริม และพัฒนาวงดนตรีพื้นบ้านให้เป็นที่ยอมรับในระดับแนวหน้าอยู่เสมอ นายโสโชค สู้โนนตาดจึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน – พิณ) ปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป