ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

มนเทียร บุญธรรม (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซอ)

มนเทียร บุญธรรม

นายมนเทียร บุญธรรม หรือที่คนทั่วไปเรียก อ้ายยาว ซอเพชร เกิดเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๑ ณ บ้านเลขที่ ๘๐ หมู่ ๑๑ บ้านปลาขาว ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

นายมนเทียร บุญธรรม สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดบ้านปลาขาว ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงวัยรุ่นของมนเทียร ได้มีโอกาสซุ่มสังเกตการณ์ฝึกซ้อมวงมโหรีในหมู่บ้านอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเสียงของซอ ซึ่งดังไพเราะ กึกก้องในหัวใจของนายมนเทียรมาโดยตลอด จึงคิดที่อยากจะลองฝึกดูบ้าง แต่ด้วยความที่ยังเป็นคนนอกของวงจึงถูกห้ามโดยทีมงาน มนเทียรจึงต้องเผชิญกับความผิดหวัง แต่ยังมุ่งหวังที่จะฝึกเล่นให้ได้ จนกระทั่งมีโอกาสได้สีซอเพลงที่เขาฟังทุกวันในวันที่หัวหน้าวงไม่อยู่ เป็นจังหวะเดียวกับที่ลูกชายหัวหน้าวงได้ฟังเข้าพอดี จึงทราบว่ามนเทียรสามารถเล่นซอได้ จึงรับเขาเข้ามาอยู่ในวงมโหรี โดยมี พ่อใหญ่อ่อนสี เป็นหัวหน้าวง และมี อาจารย์ลิง ใจสว่าง เป็นอาจารย์ฝึกสอนภายหลังต่อมาคณะมโหรีก็เลิกกิจการไป มนเทียรและสมาชิกที่เหลือที่ยังรักงานศิลปะ จึงได้ก่อตั้งวงหมอลำคณะ ส.สายทอง อัมรินทร์ โดยมี อาจารย์สายทอง สงเมือง และ อาจารย์เจริญ เพิ่มพูน เป็นหัวหน้าวง ภายหลังจากนั้นชีวิตการทำงานของมนเทียร บุญธรรม ก็ถือได้ว่าอยู่ในช่วงที่รุ่งเรืองทั้งได้ตั้ง วงฉัตรฟ้าราษี ซึ่งเป็นวงดนตรีของตนเองขึ้นมาเพื่อแสดงในงานสังสรรค์ต่าง ๆ ในอำเภอ และมีโอกาสได้ประดิษฐ์ซอทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและได้ใช้ชีวิตที่เหลือหลังจากนั้นทุ่มเทเพื่องานดนตรีอันเป็นที่รักของตนมาตราบกระทั่งปัจจุบัน

ผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความมุมานะบากบั่น ของมนเทียรบุญธรรม เป็นที่ประจักษ์แก่สายตามหาชน ได้แก่ ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดซอระดับจังหวัด ในงานประกวดดนตรีพื้นบ้าน ที่จังหวัดศรีสะเกษ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ และในปีเดียวกันนี้เอง ก็ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดงานดนตรีพื้นบ้าน ระดับภาคที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีทองของมนเทียรก็ว่าได้ ในปีพุทธศักราช๒๕๑๕ ได้มีโอกาสสีซอประกอบภาพยนตร์เรื่อง ครูบ้านนอก และเรื่องมนต์รักแม่น้ำมูล ซึ่งมี คุณสายัณห์ สัญญาเป็นผู้ขับร้อง และสีซอประกอบเพลง ลำกล่อมทุ่ง ซึ่งมีคุณไพรินทร์ พรพิบูลย์ เป็นผู้ขับร้อง ถือได้ว่าเป็นการร่วมงานกับนักร้องรุ่นใหญ่ทั้งสิ้น ส่วนผลงานที่มนเทียรภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตก็คือ การมีโอกาสได้ประดิษฐ์ซอ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานเปิดเขื่อนราษีไศลในปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในชีวิตของมนเทียร บุญธรรม

นอกจากจะรับแสดงในงานบุญต่าง ๆ แล้ว ศิลปินชาวศรีสะเกษท่านนี้ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินพื้นถิ่นอย่างแท้จริง และเป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีพื้นบ้านทั่วภาคอีสาน ยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของดนตรีพื้นบ้าน โดยเฉพาะซอ พิณ แคน ดังนั้นจึงได้พร้อมอุทิศตนถ่ายทอดความรู้ทางด้านการสีซอ ดีดพิณ ให้แก่เด็ก เยาวชน เปิดสำนักสอนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเมื่อได้เรียนจบไปแล้ว ก็จะมอบซอให้ เพื่อที่จะได้สืบทอดมรดกทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมชองชาวอีสาน อีกทั้งยังมักจะได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรพิเศษสอนเด็กในสถานศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตใกล้เคียง อาทิ โรงเรียนราษีไศล โรงเรียนยางชุมน้อยโรงเรียนอนุบาลศิลาลาด โรงเรียนบ้านก้านเหลือง ฯลฯ เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ให้คงอยู่สืบไป

จากผลงานทางด้านการบรรเลงซอ การได้มีส่วนร่วมในการบรรเลงซอประกอบภาพยนตร์ ตลอดจนการมีจิตสาธารณะที่จะอนุรักษ์และสืบทอดดนตรีพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป นายมนเทียร บุญธรรม จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซอ) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป