ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

กมนต์โรจน์ นิวัฒน์บรรหาร ( นาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานใต้ )

กมนต์โรจน์ นิวัฒน์บรรหาร

นายกมนต์โรจน์ นิวัฒน์บรรหาร หรือ “ครูจุก” ชื่อที่ทุกคนรู้จักโดยทั่วไป เกิดเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายนพุทธศักราช ๒๔๙๑ ที่บ้านเลขที่ ๗๓๒ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๖ จากโรงเรียนสุรวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์

นายกมนต์โรจน์ นิวัฒน์บรรหาร ด้วยความมีน้ำใจ อัธยาศัยดีและชอบช่วยเหลืองานของสังคม จนเป็นภาพชินตาของชาวสุรินทร์ที่จะเห็นครูจุกร่วมแสดงหรือ ร่วมกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ของจังหวัดเป็นประจำ จากการที่ได้คลุกคลีอยู่กับวงดนตรีและการแสดงพื้นบ้านอีสานใต้ ตั้งแต่วัยเด็กทำให้ครูจุกชอบและสนใจการแสดงพื้นบ้าน โดยได้รับคัดเลือกจากทางจังหวัดให้แสดง เรือมอันเร ในงานแสดงช้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ซึ่งในขณะนั้นงานช้างถือเป็นงานประจำปีของชาติที่จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาชมเป็นจำนวนมาก จากนั้นเป็นต้นมาสายเลือดแห่งความเป็นศิลปินก็อยู่ในใจของครูจุกเสมอมา ทำให้ครูจุกเป็นตัวแทนของจังหวัดสุรินทร์ในการแสดงพื้นบ้านถวายแด่พระบรมวงศานุวงศ์ แขกบ้านแขกเมือง รวมทั้งการได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมยังต่างประเทศกว่า ๒๐ ประเทศ

การได้รับเชิญเป็นวิทยากรจากสถาบันการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา อีกทั้งชุมชน องค์กรต่างๆ เป็นเวลาต่อเนื่องกว่า ๒๐ ปี ทำให้นายกมนต์โรจน์ นิวัฒน์บรรหารหรือ “ครูจุก ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ระดับประเทศ และได้รับรางวัลพระราชทานบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ อันแสดงถึงความทุ่มเทในการสืบทอดนาฏศิลป์อีสานใต้ให้ดำรงคงอยู่ นอกจากนี้ยังได้พัฒนารูปแบบชุดการแสดงเรือมตร๊ด (รำตรุษ), การแสดงชุดเรือมแคแจ๊ด (ตรุษสงกรานต์) ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศ รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีปัจจุบันนายกมนต์โรจน์ นิวัฒน์บรรหาร ยังคงเป็นวิทยากรให้แก่ผู้สนใจศึกษานาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานใต้ ท่านได้รับคัดเลือกเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๖ เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเผยแพร่อนุรักษ์และสืบสานนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานใต้ให้ดำรงอยู่และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งประชาคมอาเซียน

นายกมนต์โรจน์ นิวัฒน์บรรหาร จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานใต้) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป