ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

สินไซบุญข้าวจี่ วิถีวัฒนธรรมอีสาน

โดย ลดาเนตร พูสี นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

บุญข้าวจี่เป็นประเพณีที่มีความสำคัญต่อชาวอีสาน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านยึดถือปฏิบัติกันมายาวนานจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น บ้านสาวะถีมีความโดดเด่นนั่นคือ การค้นพบใบเสมาเก่าแก่ในสมัยก่อนที่โนนเมือง วัดไชศรีบ้านสาวะถีถือเป็นต้นแบบของชุมชนในการประยุกต์วรรณกรรมพื้นบ้านสินไซมาใช้ในงานพัฒนาชุมชน ทำให้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมมะที่รู้จักในด้านงานศิลปวัฒนธรรม งานสินไซบุญข้าวจี่วิถีวัฒนธรรมอีสานมุ่งเน้นอนุรักษ์สืบสานประเพณีของชาวอีสานรวมไปถึงงานบุญข้าวจี่ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ทรงคุณค่า ในช่วงเดือนสามของทุกปีวัดไชยศรีร่วมมือกันกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีกิจกรรม “สินไซบุญข้าวจี่ วิถีวัฒนธรรมอีสาน” ขึ้นและมีหน่วยงานต่าง ๆ นักเรียน นักศึกษามาร่วมงาน จุดมุ่งหมายก็เพื่อสืบสานประเพณีบุญข้าวจี่สู่คนรุ่นหลัง ให้รู้จักหวงแหนวัฒนธรรมและปฏิบัติสืบต่อไปบุญข้าวจี่เป็นประเพณีที่มีความสำคัญต่อชาวอีสาน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านยึดถือปฏิบัติกันมายาวนานจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น บ้านสาวะถีมีความโดดเด่นนั่นคือ การค้นพบใบเสมาเก่าแก่ในสมัยก่อนที่โนนเมือง วัดไชศรีบ้านสาวะถีถือเป็นต้นแบบของชุมชนในการประยุกต์วรรณกรรมพื้นบ้านสินไซมาใช้ในงานพัฒนาชุมชน ทำให้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมมะที่รู้จักในด้านงานศิลปวัฒนธรรม งานสินไซบุญข้าวจี่วิถีวัฒนธรรมอีสานมุ่งเน้นอนุรักษ์สืบสานประเพณีของชาวอีสานรวมไปถึงงานบุญข้าวจี่ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ทรงคุณค่า ในช่วงเดือนสามของทุกปีวัดไชยศรีร่วมมือกันกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีกิจกรรม “สินไซบุญข้าวจี่ วิถีวัฒนธรรมอีสาน” ขึ้นและมีหน่วยงานต่าง ๆ นักเรียน นักศึกษามาร่วมงาน จุดมุ่งหมายก็เพื่อสืบสานประเพณีบุญข้าวจี่สู่คนรุ่นหลัง ให้รู้จักหวงแหนวัฒนธรรมและปฏิบัติสืบต่อไป วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย และในภาคอีสานจะมีประเพณีงานบุญต่าง ๆ อีกหนึ่งประเพณีที่นิยมปฏิบัติคือ “บุญข้าวจี่” ซึ่งเป็นประเพณีของชาวอีสานที่เกิดจากความสมัครสมานสามัคคีกันของชาวบ้าน ที่จะปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อน ๆ ไปจี่ไฟเพื่อรับประทานกันเองและนำไปวัดถวายให้พระภิกษุสงฆ์ตามขนบธรรมเนียมที่ยึดปฏิบัติกันมา จุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ก็เพื่อร่วมสืบสานบุญประเพณีอันดีของชาวอีสาน อนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา ได้มีส่วนร่วมส่งเสริมการเรียนรู้แหล่งวัฒนธรรมในครั้งนี้ ความเป็นมาของงานบุญข้าวจี่ เนื่องจากชาวอีสานมีอาชีพทำเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลของการทำนา ชาวนาก็ได้มีการนำข้าวขึ้นยุ้งใหม่จึงอยากร่วมกันทำบุญ จึงได้จี่ข้าวถวายพระสงฆ์ สำหรับมูลเหตุจากความเชื่อทางพุทธศาสนาเนื่องมาจากสมัยพุทธกาลมีนางทาสชื่อ “ปุณณทาสี” ได้นำแป้งข้าวจี่ (แป้งทำขนมจีน) ไปถวายพระพุทธเจ้า แต่ในใจของนางคิดว่าแป้งข้าวจี่เป็นอาหารของผู้ที่ต่ำต้อยพระพุทธเจ้าคงไม่ฉัน ซึ่งพระพุทธเจ้าหยั่งรู้ภายในจิตใจของนาง จึงทรงฉันแป้งข้าวจี่ทำให้นางปีติดีใจมาก ชาวอีสานจึงเอาแบบอย่างและพากันทำแป้งข้าวจี่ถวายพระมาตลอด อีกทั้งในช่วงเดือนสามของชาวอีสานเป็นช่วงฤดูหนาว ในตอนเช้าผู้คนก็จะใช้ฟืนก่อไฟผิงเพื่อคลายความหนาว ชาวบ้านก็จะเขี่ยถ่านไฟออกมาไว้ด้านนอกของกองไฟแล้วนำข้าวมาจี่ บุญข้าวจี่เป็นกิจกรรมของชุมชน นั่นคือ ชาวอีสานบางหมู่บ้านเรียกงานบุญนี้ว่า “บุญคุ้ม” จะนิยมทำกันเป็นคุ้มหรือบางหมู่บ้านก็จะทำที่วัดประจำหมู่บ้าน ทั้งนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นบุญข้าวจี่หรือที่เรียกว่า “บุญเดือนสาม” ส่วนใหญ่จะกำหนดวันแรม ๑๓ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ เดือนสาม วิธีการทำข้าวจี่ คือ การที่นึ่งข้าวเหนียวให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อน ๆ ทาเกลือเคล้าให้ทั่วแล้วย่างบนไฟ เมื่อข้าวเริ่มเกรียมก็นำไข่ไก่ที่ตีให้ละเอียดพร้อมปรุงรสแล้วทาลงไปบนข้าวจี่และจี่ไข่ต่อจนสุก จากนั้นนำน้ำตาลอ้อยที่เป็นก้อนยัดใส่ในปั้นข้าวเหนียวเพื่อให้ได้ข้าวจี่ที่มีรสชาติอร่อย หอมหวานของน้ำตาลอ้อย ชาวบ้านจะจัดเตรียมข้าวจี่ตั้งแต่ตอนย่ำรุ่งของวันนั้นเพื่อจี่ข้าวให้สุกทันไปวัด ชาวบ้านจะนำข้าวจี่ไปวัดเพื่อถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จึงมีคำกล่าวว่า “เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ข้าวจี่บ่มีน้ำอ้อย จัวน้อยเช็ดน้ำตา” (พอถึงปลายเดือนสามภิกษุก็รอปั้นข้าวจี่ ถ้าข้าวจี่ไม่มีน้ำอ้อยยัดไส้ เณรน้อยก็เช็ดน้ำตา) ภายใต้ชื่องาน “สินไชบุญข้าวจี่ วิถีวัฒนธรรมอีสาน” จะจัดขึ้นทุกปี ณ วัดไชยศรี บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งการจัดงานจะจัดขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ เนื้อหาภายในงานจะประกอบด้วยช่วงเช้าจะมีการเข้าฐานกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเรียน นักศึกษา จะมีเครือข่ายที่เข้าร่วมทั้งหมด ๑๕ หน่วยงาน ประกอบไปด้วย สาขาวิจัยศิลปวัฒนธรรมคณะศิลปกรรมศาสตร์  วงโปงลางสินไซคณะศิลปกรรมศาสตร์  โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนหนองวัด  โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยวิทยาเขตอีสาน  โรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวะถีราษฎร์รังสฤษฏิ์)  โรงเรียนนครขอนแก่น  วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี  โรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรค์  โรงเรียนบ้านศรีฐาน  โรงเรียนหนองเรือวิทยา  โรงเรียนเทศบาลท่าพระ  โรงเรียนบ้านงิ้ว  โรงเรียนบ้านลาดนาเพียง และโรงเรียนบ้านโคกล่าม ซึ่งการจัดงานทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนโยบายในการอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน โดยประยุกต์เชื่อมโยงผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมอันเป็นต้นทุนในการบูรนาการนำไปสู่กระบวนการเรียนการสอนในระดับต่าง ๆ และสามารถใช้ศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อรักษาคุณค่ามรดกทางภูมิปัญญา

การเข้ากลุ่มฐานการเรียนรู้มีจำนวน ๔ ฐาน ซึ่งแบ่งกลุ่มตามเกณฑ์อายุเป็น ๔ กลุ่ม และมีการเวียนฐาน ในช่วงเช้าจะเป็นการเรียนรู้นอกสถานที่โดยการเดินเท้าเพื่อไปยังจุดต่าง ๆ โดยมีวิทยากรประจำฐานเพื่อคอยอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของฐานนั้น ๆ โดยฐานที่หนึ่งคือ ฐานโนนเมือง เป็นข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของหมู่บ้านสาวะถีที่มีการพบใบเสมา และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวบ้าน ฐานที่สองคือ ฐานปู่ตา เป็นศาลที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าคอยปกปักรักษาหมู่บ้านและให้คนภายในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ฐานกิจกรรมที่สามคือ ฐานพิพิธภัณฑ์ จะเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้สมัยโบราณ รวมไปถึงเครื่องดนตรีของชาวอีสานซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวภาคอีสาน และฐานสุดท้ายคือ ฐานเหล่าพระเจ้า เป็นฐานที่เกี่ยวกับความเชื่อ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าถ้าใครได้มากราบไหว้ขอพรจะเป็นสิริมงคลแก่ผู้นั้น และในช่วงบ่ายจะมีฐานการเรียนรู้ภายในวัดไชยศรีจำนวนสี่ฐานที่จะให้นักเรียน นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองในฐานการจี่ข้าวโดยจะมีกลุ่มแม่บ้านประจำฐานที่คอยช่วยในส่วนของอุปกรณ์ในการจี่ข้าว

ในฐานที่สองคือการทำบายศรีเป็นการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาเรียนรู้ในการทำงานฝีมือ การใช้ใบตองทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ ฐานที่สามฐานฮูปแต้มก็จะมีการเตรียมอุปกรณ์ในการวาดภาพระบายสีมาให้และฐานสุดท้ายฐานหมอลำจะมีวิทยากรประจำฐานที่เป็นผู้มีความสามารถในด้านการร้องหมอลำทำให้มีความสนุกสนานแก่ทุกคนที่เข้าร่วมร้องเล่นหมอลำ ในช่วงเย็นจะมีการเจริญพุทธมนต์เย็นเพื่อให้ชาวบ้านได้มาสวดมนต์พร้อมกันที่ศาลา และในช่วงค่ำก็จะมีการแสดงของนักเรียน นักศึกษาแต่ละสถาบันมีชาวบ้านมานั่งชมการแสดงกันอย่างอบอุ่น บ้านสาวะถีมีความโดดเด่นและพิเศษด้วยการประยุกต์นำเอาคุณสมบัติของตัวละครในวรรณกรรมสินไซ เช่น ความสามัคคี ความรักพวกพ้องพี่น้อง ความกตัญญู วัดไชศรีบ้านสาวะถีจึงถือเป็นต้นแบบของชุมชนในการประยุกต์วรรณกรรมพื้นบ้านสินไซมาใช้ในงานพัฒนาชุมชน ทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักในด้านงานศิลปวัฒนธรรมเป็นแหล่งท่งเที่ยวเชิงธรรมะ งานสินไซบุญข้าวจี่วิถีวัฒนธรรมอีสานมุ่งเน้นอนุรักษ์สืบสานประเพณีของชาวอีสานสู่คนรุ่นหลังจึงได้จัดงานสินไซบุญข้าวจี่วิถีวัฒนธรรมอีสานขึ้น ในครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ความความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี นักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมก็ได้รับความรู้จากการเข้าฐานการเรียนรู้ทั้งแปดฐาน ส่งผลให้รู้จักหวงแหนวัฒนธรรมอันดีของชาวอีสานและอนุรักษ์ปฏิบัติสืบต่อไป อ้างอิง บุญศรี  เปรียญ. (๒๕๕๐).  ประเพณีอีสาน.  สำนักงาน ส.ธรรม  ภักดี. วิทยา  วุฒไธสง. (๒๕๖๐).  คนอีสานบ้านเฮา.  โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น.]]>