ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

[สกู๊ป] พุทธศาสนิกชาว มข. ร่วม “บำเพ็ญบุญบารมีบนวิถีชาวพุทธ ครั้งที่ ๒๑”

โดย ปริญธิดา โพธิ์พะนา นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ สำนักวัฒนธรรม เครือข่ายองค์การนักศึกษา ชมรมพุทธศาสน์และประเพณี ชมรมสมาธิและศีลธรรม ร่วมจัดกิจกรรม “บำเพ็ญบุญบารมีบนวิถีชาวพุทธ” ครั้งที่ ๒๑ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๐ ณ พุทธศิลป์สถาน ริมบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ เป็นประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พร้อมด้วยนายบัญชา พระพล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม ผศ.ดร.เสาวมาศ เถื่อนนาดี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ผศ.ภาณุ อุดมเพทายกุล รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม ร่วมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และญาติธรรม ในบรรยากาศแห่งความสงบและการปฏิบัติธรรม [gallery td_select_gallery_slide="slide" ids="3184,3176,3178,3179,3174,3177,3181,3183,3182,3180,3175"] ตะวันคล้อยลอยต่ำในวันศุกร์สุดท้ายของทุกเดือน เป็นสัญญาณเตือนพุทธศาสนิกชนชาว มข. จวนจะถึงเวลา “บำเพ็ญบุญบารมีบนวิถีชาวพุทธ” บรรยากาศตอนเย็นที่เหมาะกับการพักผ่อนจิตใจ ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาร่วมงาน ใบหน้าเบิกบานสำราญใจ เมื่อบทสวดมนต์เริ่มบรรเลงจากเสียงครื้นเครงเริ่มสงบ ทำนองที่คุ้นเคยได้ดำเนินตามพิธีกรรมทางศาสนา เป็นวิถีของชาวพุทธในการอนุรักษ์สืบสานและสร้างคุณค่าศาสนา ศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาเล็งเห็นความสำคัญของการทำนุบำรุงพุทธศาสนา กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การทำวัตรสวดมนต์เย็น เจริญภาวนา และฟังธรรมเทศนาจากพระครูสันติ โพธิธรรม วัดป่ากิตติยานุสรณ์ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น พระครูสันติ โพธิธรรม เมตตาแสดงธรรมเทศนาให้ข้อคิดในเรื่อง อนุปุพพิกถา หมายถึง เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดจากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังธรรมชั้นสูง คือ อริยสัจ มี 5 ประการ คือ ทานกถา ถ้อยคำที่พรรณานาทาน สีลกถา ถ้อยคำที่พรรณนาศีล สัคคกถา ถ้อยคำที่พรรณนาสวรรค์ กามาทีนวกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอาทีนพ คือ โทษของกาม เนมขัมมานิสังสกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอานิสงส์ของเนกขัมมะ คือ การออกจากกาม เมื่อได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาทั้ง 5 ประการนี้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า ผู้ฟังมีจิตแช่มชื่นผ่องใส ปราศจาก นิวรณ์ คือ กิเลสเครื่องกั้นจิต มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส สมควรที่จะรับพระธรรมที่สูงขึ้นไป เหมือนอย่างผ้าที่ซักให้สะอาดปราศจากมลทินต่าง ๆ ควรที่จะรับน้ำย้อมได้แล้ว จึงได้ทรงแสดงอริยสัจ ๔ เป็นลำดับถัดไป สำหรับกิจกรรม “บำเพ็ญบุญบารมีบนวิถีชาวพุทธ” จัดขึ้นในทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน (หรือวาระอื่นตามความเหมาะสม) โดยมีกิจกรรมการสวดมนต์ทำวัตรเย็น การแสดงธรรมเทศนาโดยพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบพร้อมร่วมกราบไหว้พระศรี ๕๐ ปี มข. พระพุทธรูปไม้ที่มีหน้าตักใหญ่สุดในอีสาน และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พุทธศิลป์ แหล่งรวบรวมองค์ความรู้ พระพุทธรูปไม้ เชี่ยนหมาก โบราณ วัตถุเครื่องใช้ในอดีตของชาวอีสาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่คุณวรศักดิ์ วรยศ โทร.๐ ๔๓๓๓ ๒๗๖๐ ภายใน ๔๒๓๐๑, ๔๔๘๙๓ เรื่อง : ปริญธิดา โพธิ์พะนา นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์]]>