บทความโดย อรุณี อุตอามาตย์ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
การจัดงานเชิดชูเกียรติผู้ที่สร้างสรรค์และสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นอีสาน นับเป็นการสร้างความหมายต่อการรับรู้ของผู้คนในยุคปัจจุบันให้เห็นคุณค่าและความสามารถของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปิน ตลอดจนนักวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ ที่สืบสานคุณค่าในภูมิปัญญาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ดำเนินการจัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๖๑ ภายใต้ชื่องาน “ศิลปินมรดกอีสาน สืบสาน วัฒนธรรมสัมพันธ์” ซึ่งจัดขึ้นในวันจันทร์ ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ดังมีรายชื่อผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติโดยแบ่งตามสาขา ดังนี้ “ศิลปินมรดกอีสาน ประจำปี ๒๕๖๑” มี ๔ สาขา รวมทั้งสิ้น ๙ ท่าน ดังนี้ อมรศิลปินมรดกอีสาน จำนวน ๒ ท่าน ได้แก่ ครูปิ่น ดีสม (ศิลปะการแสดง) และ ดร.พิมพ์ รัตนคุณสาสน์ (วรรณศิลป์) ด้านสาขาทัศนศิลป์ จำนวน ๑ ท่าน คือ รศ.สุวัฒน์ จิตต์ปราณีชัย (ภาพถ่าย) สาขาวรรณศิลป์ มี ๑ ท่าน คือ สังคม เภสัชมาลา (วรรณกรรมปัจจุบัน) และสาขาศิลปะการแสดง จำนวน ๕ ท่าน ได้แก่ อุไร ฉิมหลวง “นกน้อย อุไรพร” (หมอลำเรื่องต่อกลอน) กฤษณา วรรณสุทธิ์ (หมอลำกลอน) อรอุมา จันทรวงษา (หมอลำกลอน) บุญศรี ยินดี (นักแสดงภาพยนตร์) และบุดษา แถววิชา (หมอลำเรื่องต่อกลอน) ในส่วน “ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์” มีผู้ได้รับการยกย่อง ๕ สาขา รวมทั้งสิ้น ๑๔ ท่าน และ ๑ กลุ่ม ดังนี้ สาขาเกษตรกรรม จำนวน ๓ ท่าน ได้แก่ นายอดิศร เหล่าสะพาน นายวิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง และนายถิน สีท้าว สาขาหัตถกรรม จำนวน ๑ ท่าน คือ กองมี หมื่นแก้ว สาขาวิสาหกิจชุมชน จำนวน ๑ ท่าน และ ๑ กลุ่ม ได้แก่ นายสว่าง สุขแสง และกลุ่มพรรณไม้ ส่วนสาขาศิลปกรรม จำนวน ๔ ท่าน ได้แก่ นายสมศักดิ์ มงคลวงศ์ (จิตรกรรม) พิทยา บุญลา (แกะสลัก) ศิลากร ทับทิมไสย (จิตรกรรมฝาผนัง) และนายสมบัติ ยอดประทุม (หนังประโมทัย) สาขาสื่อสารวัฒนธรรม จำนวน ๕ ท่าน ได้แก่ นางชนิดาภา มั่นสนธิ์ ดร.อำคา แสงงาม นายสีน้ำ จันทร์เพ็ญ นายวิเชียร สาละวัน “สนธยา กาฬสินธุ์” และ นายเจริญ สาดา

การจัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ นอกจากเป็นขวัญกำลังใจอย่างดีให้กับศิลปินผู้สร้างผลงานแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอีสานให้คงอยู่ และสร้างความเข้มแข็งให้สังคมในเชิงวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบไป
]]>