ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หนูมอญ ประทุมวัน (หัตถกรรม)

EmbeddedImage

หนูมอญ ประทุมวัน

นายหนูมอญ ประทุมวัน เกิดเมื่อพุทธศักราช 2472 ที่บ้านนาสะไมย์ ต.สิงค์ จ.ยโสธร (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ต.นาสะไมย์ อ.เมืองจ.ยโสธร) สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดนาสะไมย์ บิดาชื่อนายล่อน ประทุมวัน มีอาชีพเป็นนายชั่งทำเกวียนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดยโสธร ส่วนมารดาชื่อนางอัมพร ประทุมวัน

นายหนูมอญ ประทุมวัน เริ่มฝึกทำเกวียนช่วยบิดาตั้งแต่อายุได้ 14 ปีโดยการศึกษาการเขียนลวดลายและการแกะสลักตามอย่างที่บิดาได้สืบทอดจากปู่ จึงมีความสามารถและเชี่ยวชาญในการแกะสลักลวดลายตกแต่งเกวียนและรวมถึงงานชั่งอื่นๆแต่พออายุย่างเข้า 18ปี ได้ผันชีวิตตัวเองมาเรียนตัดเย็บเสื้อผ้ากับน้า (นางสงกรานต์ หาสำลี) ในตัวจังหวัดยโสธร เพราะความเป็นชั่งที่มีอยู่ในสายเลือดจึงไม่เป็นการอยากที่จะเรียนรู้ศาสตร์การตัดเย็บเสือผ้าได้ใช้เวลาในการเรียนเพียง6 เดือน ก็มีความเชี่ยวชาญ และสามารถเปิดร้านเป็นอาชีพได้ หลังจากนั้นจึงเดินทางไปหาตัดเย็บเสื้อผ้ายังที่ต่างๆ ทั่วไป

จนเมื่ออายุ 50 ปี จึงได้หวนกลับมารับจ้างทำเกวียน ตามอย่างที่บิดาและปู่เคยสืบทอดต่อกันมา ซึ่งก็ได้รับการยอมรับในฝีมือที่มีความงดงามประณีต ยากที่จะมีผู้ใดเทียบได้ จึงมีผู้มานิยมว่าจ้างอยู่เสมอจนเป็นที่รู้จักไปทั่ว และนอกจากนั้นยังมีงานที่ทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อาทิ งานตัดกระดาษงานแกะสลักไม้ แกะสลักฮางฮดสรง แกะสลักประตูสิมและหน้าต่างปราสาทผึ้ง ตัดกระดาษประกอบขบวนแห่ และเขียนผ้าผะเวส ฯลฯ จากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมบ่มเพราะมายาวนาน จึงได้รับการเชื้อเชิญไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาและคณาจารย์ศึกษาต่างๆ เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงโรงเรียนในเขตเทศบาลนครขอนแก่นเป็นต้น

นายหนูมอญ ประทุมวัน จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (หัตถกรรม) เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2548 จากสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น