ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

โดย วิทยา วุฒิไธสง นักวิชาการวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในงานบุญประเพณีแต่ละเดือนของชาวอีสานมักจะประดิษฐ์  “ตุง” หรือ  “ธุง” หลากหลายรูปแบบและหลากหลายสีสันบนผืนผ้าหรือใช้วัสดุสิ่งอื่นเพื่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณในงานบุญประเพณีแต่ละเดือนของชาวอีสานมักจะประดิษฐ์  “ตุง” หรือ  “ธุง” หลากหลายรูปแบบและหลากหลายสีสันบนผืนผ้าหรือใช้วัสดุสิ่งอื่นเพื่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ “ตุง” มีความเป็นมาจากเรื่องเล่าเมื่อครั้งในอดีตว่า มีพวกเหล่ามารปีศาจขึ้นไปก่อกวนเทวดาบนสวรรค์ จนทำให้เหล่าเทวดาตกใจกลัวเป็นอย่างมาก ทำให้เจ้าแห่งสวรรค์สร้าง “ตุง”  ขึ้นมา เพื่อให้เหล่าเทวดาได้มองเห็น “ตุง” แล้วเกิดความกล้าหาญไม่หวาดกลัวเหล่ามารปีศาจอีกต่อไป “ตุง” จึงเป็นเหมือนตัวแทนในการขับไล่มารร้ายไปจากสวรรค์นั้นเอง ทำให้ในกาลต่อมามนุษย์จึงได้ประดิษฐ์ “ตุง” เพื่อเป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งเพื่อเป็นพุทธบูชา อีกทั้งเป็นปัจจัยการส่งกุศลให้แก่ตนเองในชาติหน้าจะได้เกิดบนสรวงสวรรค์ต่อไป “ตุง” จึงนับได้ว่าเป็นเครื่องสักการะ เพื่อใช้พิธีกรรมทางพุทธศาสนา ในบุญเฉลิมฉลอง หรือขบวนแห่ต่าง ๆ การประดับประดาในงานพิธีต่าง ๆ เพื่อความสวยงามตระการตา โดยมีความแตกต่างกันตามความเชื่อในการประกอบพิธีกรรมของท้องถิ่น ซึ่งโดยทั่วไปตุงจะมีลักษณะคล้ายกับธงมีความยาวประมาณ 1 – 3 เมตร อาจทอด้วยผ้าฝ้ายเป็นลายขิด ลวดลายสัตว์ คน ต้นไม้ หรือพระพุทธรูป เพื่อถวายพระสงฆ์เป็นพุทธบูชา

ตุงคำว่าตุง  ก็คือ ทุง หรือ ธง  นั่นเอง เป็นธงแบบห้อยยาวจากบนลงล่าง เมื่อเข้าไปในวิหาร ก็จะเห็นตุงหลากหลาย  ตุงเหล่านี้ทำมาจากวัสดุต่างๆ เช่น ผ้า กระดาษ ธนบัตร เป็นต้น โดยมีขนาด รูปทรงตลอดจนการตกแต่งต่างกันออกไปตามระดับความเชื่อ  ความศรัทธา และฐานะ ทางเศรษฐกิจของผู้ถวายคติความเชื่อเกี่ยวกับการถวายตุง การที่ชาวบ้านนำตุงมาถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งที่เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือเป็นการถวายเพื่อส่งกุศลผลบุญให้แก่ตนเองในชาติหน้า ก็ด้วยคติความเชื่อที่ว่าเมื่อตายไปแล้วจะพ้นจากการตกนรกโดยอาศัยเกาะชายตุงขึ้นสวรรค์ จะได้พบพระศรีอริยะเมตตรัย หรือ จะได้ถึงซึ่งพระนิพพาน จากความเชื่อนี้จึงมีการถวายตุงที่วัด อย่างน้อยครั้งนึงในชีวิตของตน ตุงผ้าโดยทั่วไปจะมีขนาดกว้างตั้งแต่ 10-15 ซม. มีความยาวตั้งแต่ 1-6 เมตร โครงสร้างของตุงประกอบด้วยส่วนหัว ตัว และ หาง โดยมีไม้ไผ่สอดคั่นเป็นระยะ ๆ และ นิยมตกแต่งด้วยวัสดุต่าง เช่น เศษผ้า  กระดาษ ไหมพรม เมล็ดฝีกเพกา ทำเป็นพู่ห้อยประดับตลอดทั้งฝืน เรียกส่วนตกแต่งนี้ว่า ใบไฮ (ใบไทร) ใบสะหลี (ใบโพธิ์) สวย (กรวย) ส่วนหัวตุงมักทำเป็นรูปโครงสร้างปราสาท โดยใช้ไม้แผ่นใหญ่ หรือใช้ไม้ขนาดเล็กกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร เรียงติดต่อกันหลายชิ้น  แล้วต่อกันเป็นโครง  ส่วนหางตุงก็มักตกแต่งชายด้วยการถักเป็นตาข่าย หรือเย็บเป็นรูปหมอน หรือใช้ไม้ไผ่ห้อยชายตุงเป็นการถ่วงน้ำหนัก  ตุง หรือ ธุง  ในภาคเหนือเรียกว่า ตุง ภาคอีสานเรียกว่า ธุง  ในภาษาไทยใหญ่เรียกว่า ตำข่อน พม่าเรียกว่า ตะขุ่น สำหรับในประเทศไทยโดยทั่วไปนิยมเรียกว่า ตุง ตามอย่างทางภาคเหนือเพราะมีการใช้ในกิจกรรมพิธีการค่อนข้างมาก และมีรูปแบบที่หลากหลาย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาหรือภาคเหนือ ตุงคำนี้เป็นภาษาภาคเหนือ หมายถึง ธง ซึ่งตรงกับลักษณะของ ปฎากะ ที่เป็นธงของอินเดีย ส่วนธุงของอีสานนิยมทอเป็นผืนยาวๆ มีรูปสัตว์หรือรูปภาพต่างๆ ตามความเชื่อบนผืนธุง เช่น จระเข้ เสือ ตะขาบ นางเงือก เทวดา และอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการดัดแปลงวัสดุธรรมชาติอื่นมาเป็นธุงด้วย เช่น ลูกปัดจากเมล็ดพืช ไม้แกะรูปทรงต่างๆ เป็นต้น ตุงมีชื่อเรียกต่างๆ มากมายตามการใช้งาน และรูปร่างรูปทรง เช่น

ธุงราว ทำจากผ้าหรือกระดาษอาจเป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรืออื่นๆ นำมาร้อยเรียงเป็นราวแขวนโยง ธุงไชย เป็นเครื่องหมายของชัยชนะหรือสิริมงคลทอจากเส้นด้ายหรือเส้นไหมสลับสี บางครั้งใช้ไม้ไผ่คั่น นิยมใช้ลายประจำยาม ลายปราสาท ลายเครือเถา ลายสัตว์ ลายดอกไม้ ธุงสิบสองราศี นิยมทำด้วยกระดาษ ลักษณะของตุงสิบสองราศี มีรูปนักษัตรหรือสัตว์ สิบสองราศีในผืนเดียวกัน เชื่อว่าในครอบครัวหนึ่งอาจมีสมาชิกหลายคน แต่ละคนอาจมีการเกิดในปีต่างกัน หากมีการนำไปถวายเท่ากับว่าทุกคนในครอบครัวได้รับอานิสงค์จากการทานตุงเท่าๆ กัน ถือว่าเป็นการสุ่มทาน ใช้เป็นตุงบูชาเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์

ธุงเจดีย์ทราย ใช้ปักประดับที่เจดีย์ทราย ทำจากกระดาษสีต่างๆ ให้หลากสี ตัดฉลุลายด้วยรูปทรงสวยงาม เมื่อได้ตุงนำมาร้อยกับเส้นด้าย ผูกติดกับกิ่งไม้หรือกิ่งไผ่ ปักไว้ที่เจดีย์ทรายในวัด  ธุงตะขาบ ธุงจระเข้ เป็นผ้าผืนที่มีรูปจระเข้หรือตะขาบไว้ตรงกลาง เป็นสัญลักษณ์ในงานทอดกฐิน ใช้แห่นำขบวนไปทอดยังวัด บนความเชื่อเกี่ยวกับจ้าวแห่งสัตว์ในท้องถิ่นที่จะมาช่วยปกป้องคุ้มครองในงานบุญกุศล บางแห่งอาจมีรูปเสือที่เป็นเจ้าแห่งป่าร่วมด้วย ธุงไส้หมู เป็นงานศิลปะประดิษฐ์ที่เกิดจากการตัดกระดาษสีหรือกระดาษแก้วสีต่างๆ เมื่อใช้กรรไกรตัดสลับกันเป็นลายฟันปลาจนถึงปลายสุดแล้วคลี่ออกและจับหงายจะเกิดเป็นพวงกระดาษสวยงาม นำไปผูกติดกับคันไม้ไผ่หรือแขวนในงานพิธีต่างๆ เช่น ตกแต่งปราสาทศพ ปักเจดีย์ทราย ประดับครัวทาน และอื่นๆ ธุงใยแมงมุม เป็นตุงที่ทำจากเส้นด้ายจากเส้นฝ้ายหรือเส้นไหม ผูกโยงกันคล้ายใยแมงมุม นิยมใช้แขวนตกแต่งไว้หน้าพระประธาน หรือโดยรอบในงานพิธีกรรม ใช้ในการปกป้องคุ้มครองคล้ายกับตุงไชย เป็นที่แพร่หลายในภาคอีสาน   การประดับธุงใยแมงมุมของวัดไชยศรี งานบุญเผวสบ้านสาวะถี และ ประดับในงานร่วมสมัย

ปัจจุบัน ธุง หรือ ตุง ในมุมมองของคนรุ่นใหม่อาจเห็นภาพไม่ชัดเจน ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ ธุง หรือ ตุง ก็ยังอยู่ในวิถีวัฒนธรรมความเชื่อของคนอีสาน รวมถึงผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขง และถือได้ว่า ธุง หรือ ตุง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตามความเชื่อถือของแต่ละท้องถิ่น ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่ควรแก่การบันทึก ศึกษา ไว้ให้ลูกหลานเรียนรู้สืบไป

]]>