ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

มข. ประกาศผลคัดเลือกศิลปินมรดกอีสานและวัฒนธรรมสัมพันธ์ ๕๙

LCD 1280x720 px ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ และสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศผลการพิจารณาและคัดเลือกเพื่อเชิดชูเกียรติ ศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี ๒๕๕๙ รวมทั้งสิ้น ๒๗ รายชื่อ จากการเสนอชื่อศิลปินอีสานและผู้ที่มีผล งานด้านวัฒนธรรมจากทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ประเทศไทย เตรียมพร้อมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ วันอนุรักษ์มรดกไทย ในวันเสาร์ ที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๙ ณ เวทีกลางแจ้ง สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น. เป็นต้นไป โดยโล่เชิดชูเกียรติมอบแด่ศิลปินผู้เป็นตำนานของชาวอีสาน ปราชญ์ชาวบ้าน และองค์กรที่อุทิศเพื่อมวลชน ซึ่งเป็นการสร้างกำลังใจให้ศิลปิน และสร้างเสริมแรงบันดาลใจให้ศิลปิน-คนรุ่นหลังต่อไป พร้อม โอกาสพิเศษก้าวสู่ทศวรรษที่ ๒ ในการเฟ้นหาศิลปินต้นแบบศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสาน และยกย่องผู้ที่ส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ นอกจากนี้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมและต่อยอดด้านศิลปวัฒนธรรม อาทิ การเสวนาเชิงวิชาการ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโล่เชิดชูเกียรตินี้ ที่มีการเฟ้นหาศิลปินต้นแบบของชาวอีสานตลอดระยะเวลากว่า ๑ ทษวรรษ ณ อาคารพุทธศิลป์ สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประวัติความเป็นมา และผลงานของศิลปินและผู้ที่ส่งเสริมวัฒนธรรม ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เวลา ๑๗.๐๐ น. เป็นต้นไป สำหรับการเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี ๒๕๕๙ มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๗ รายชื่อ โดยแบ่งเป็น รางวัลอมรศิลปินมรดกอีสาน* จำนวน ๑ รายชื่อ รางวัลศิลปินมรดกอีสาน จำนวน ๑๐ รายชื่อ และผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ จำนวน ๑๕ รายชื่อ และ ๑ กลุ่ม ดังนี้ รางวัล “อมรศิลปินมรดกอีสาน”* มอบแด่ศิลปินผู้ที่มีผลงานเป็นอมตะ และเป็นที่คุ้นเคยของประชาชนอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย มีผู้ได้รับรางวัล ๑ ท่าน ดังนี้ ๑. นายสงเคราะห์ สมัตถภาพงศ์ (ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง) สาขาทัศนศิลป์ มีผู้ได้รับรางวัล ๑ ท่าน ได้แก่ ๑. นายทวี เกษางาม (จิตรกรรมร่วมสมัย) สาขาวรรณศิลป์ มีผู้ได้รับรางวัล ๓ ท่าน ได้แก่ ๑. นายมาโนช พรหมสิงห์ (วรรณกรรมร่วมสมัย) ๒. นางสมนึก พานิชกิจ (วรรณกรรมเยาวชน) ๓. นายสวาท ศรีอุดร (ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง) สาขาศิลปะการแสดง มีผู้ได้รับรางวัล ๖ ท่าน ได้แก่ ๑. นางสมัย ทรัพย์สิงห์ (หมอลำพิศมัย เพชรลมโชย) (ลำเรื่องทำนองกาฬสินธุ์) ๒. นางวันดี พลทองสถิตย์ (หมอลำอุดมศิลป์) (ลำเรื่อง) ๓. นายรังสรรค์ วงศ์งาม (ลำกลอน) ๔. นายระพินทร์ พุฒิชาติ หรือ น้าซู วงซูซู (เพลงเพื่อชีวิต) ๕. นายบุญเสาร์ ประจันตะเสน (พรศักดิ์ ส่องแสง) (ลูกทุ่งหมอลำ) ๖. นายเมฆ ศรีกำพล (ดนตรีพื้นบ้าน-ปี่ผู้ไท) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลวัฒนธรรมสัมพันธ์ จำนวน ๑๕ ท่าน ๑ กลุ่ม ดังนี้ สาขาเกษตรกรรม มีผู้ได้รับรางวัล ๑ ท่าน ได้แก่ ๑. นายธงชัย นิกรสุข สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม มีผู้ได้รับรางวัล ๑ ท่าน ได้แก่ ๑. นางชูศรี คะเรียงรัมย์ (ผ้าทอสีธรรมชาติ) สาขาแพทย์แผนไทย มีผู้ได้รับรางวัล ๑ ท่าน ได้แก่ ๑. นางสมบูรณ์ จำนูนสาย (นวดพื้นบ้าน) สาขานิเวศน์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม มีผู้ได้รับรางวัล ๑ ท่าน ได้แก่ ๑. นายปริพนธ์ วัฒนขำ (ไฝ สันติภาพ) สาขาวิสาหกิจและธุรกิจชุมชน มีผู้ได้รับรางวัล ๑ ท่าน ได้แก่ ๑. นายประยุทธ หงษ์ทอง (สหกรณ์การเกษตร) สาขาศิลปกรรม มีผู้ได้รับรางวัล ๖ ท่าน ๑ องค์กร ได้แก่ ๑. นายไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์ (ครูเบิ้มเติมศิลป์) (จิตรกรรมร่วมสมัย) ๒. กลุ่มศิลปินเมืองแปะ จังหวัดบุรีรัมย์ (ศิลปะชุมชน) ๓. นายศราวุธ ทุ่งขี้เหล็ก (สิงห์เฒ่า) (ดนตรีร่วมสมัย) ๔. นายทวี สาริมาตย์ (ดนตรีพื้นบ้าน-แคน) ๕. นางลำไย พาณิชย์ (เพลงโคราช) ๖. นายสมบูรณ์ ฤทธิ์วงศ์จักร (รำลายกลองไทยโส้) ๗. นายอนุสรณ์ จังกาจิตต์ (นักแสดง) สาขาภาษาและวรรณกรรม มีผู้ได้รับรางวัล ๑ ท่าน ได้แก่ ๑. นายปรีดา ข้าวบ่อ สาขาศาสนาและประเพณี มีผู้ได้รับรางวัล ๑ ท่าน ได้แก่ ๑. รองศาสตราจารย์คูณ โทขันธ์ สาขาสื่อสารวัฒนธรรม มีผู้ได้รับรางวัล ๒ ท่าน ได้แก่ ๑. นายเด่นชัย ไตรยะถา ๒. นางนวลจันทร์ พงษ์สนิท (สาววารินทร์) (นักจัดรายการวิทยุ) รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการ เป็นสถาบันที่นำศิลปวัฒนธรรมขับเคลื่อนและพัฒนามหาวิทยาลัยโดยยกให้ศิลปวัฒนธรรมเป็น ๑ ใน ๔ เสาหลัก ในยุทธศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้ที่มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ สนับสนุนและสร้างความสำคัญ สร้างคุณค่า ให้กับบุคคลที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสร้างผลงานศิลปะ โดยเฉพาะศิลปินชาวอีสานและผู้ที่อุทิศตน เพื่อส่งเสริมงานด้านศิลปวัฒนธรรม และการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ ๒ ในปี ๒๕๕๙ สำหรับวันพฤหัสบดีที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๙ ถือวโรกาสอันเป็น มหามงคลยิ่งในการร่วมเฉลิมฉลองในวาระสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุครบ ๖๑ พรรษา อีกด้วย รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ เพิ่มเติมว่า กิจกรรมในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๙ เริ่มด้วยการเสวนาเชิงวิชาการ เพื่อสร้าง องค์ความรู้อีกทั้งเป็นการนำเสนอผลงานวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม จากนั้นเป็นพิธีเปิดนิทรรศการ “เชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและ วัฒนธรรมสัมพันธ์” ซึ่งได้รวบรวมประวัติและผลงานของท่านเหล่านั้นเผยแพร่เป็นองค์ความรู้ต่อไป ซึ่งจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยการประทับฝ่ามือของเหล่าศิลปินมรดกอีสานจากอดีตถึงปัจจุบัน ช่วงเย็นเป็นพิธีกล่าวคำอาเศียรวาทและ มอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี ๒๕๕๙ โดย ประธานในพิธี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศิลปิน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมด้วยศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ * อมรศิลปินมรดกอีสาน อ่านว่า อะ-มะ-ระ-สิน-ละ-ปิน-มอ-ระ-ดก-อี-สาน]]>